วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พร้อมแล้วหรือยัง ชักดาบหนี้ยุโรป อเมริกาพิมพ์แบงก์ไม่หยุด



พร้อมแล้วหรือยัง  ชักดาบหนี้ยุโรป อเมริกาพิมพ์แบงก์ไม่หยุด ไทยค้ำประกันเงินฝากไม่ เกิน 1 ล้านบาท...


   เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554 นายอลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวในสถานีโทรทัศน์ เอ็นบีซี ว่า ดัชนีหุ้นจะยังร่วงอย่างต่อเนื่อง หลังจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ แสตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินในระยะยาวของสหรัฐอเมริกาจากระดับ AAA มาอยู่ที่ AA+ ว่า ยังมองไม่เห็นความเสี่ยงสำหรับการลงทุนในสหรัฐฯ และการลดอันดับความน่าเชื่อถือของเอสแอนด์พี ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ส่วนเรื่องที่สหรัฐอเมริกามีโอกาสผิดนัดชำระหนี้หรือไม่นั้น นายอลัน กรีนสแปน ตอบกลับว่า
       
       “สหรัฐฯ มีขีดความสามารถในการชำระหนี้ เพราะสามารถพิมพ์ธนบัตรเองได้”
       
       สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีการบริโภคด้วยการนำเข้าจากต่างประเทศมากที่สุดในโลก โดยปีที่แล้ว 2553 มีการนำเข้าถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (สินค้าและบริการนำเข้ามากกว่าส่งออก) ถึง 561,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
       
       ด้วยความที่สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่เงินสกุลของตัวเองไม่ได้ใช้ในประเทศเท่านั้น แต่ความที่ถือว่าตัวเองเป็นตลาดบริโภคขนาดใหญ่ ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นเงินสกุลหลักที่สำคัญในโลกที่เป็นสื่อกลางในการค้าขายในโลกด้วย
       
       การใช้เงินดอลลาร์เป็นสื่อกลางในโลก สหรัฐอเมริกาจึงเป็นประเทศเดียวในโลกจึงไม่ยึดเอาทุนสำรองระหว่างประเทศหรือทองคำมาหนุนหลังอีกต่อไป แต่ปล่อยให้เงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาเป็น “กระดาษ” ที่ใช้เป็นสื่อกลางในการค้าขายโดยมีอัตราแลกเปลี่ยนที่ขึ้นลงตามกลไกอุปสงค์และอุปทานตลาดโลก
       
       สหรัฐอเมริกาได้นำความได้เปรียบในประเด็นดังกล่าวข้างต้น ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาพิมพ์ธนบัตรได้อย่างไม่จำกัดจำนวน เมื่อพิมพ์ได้ไม่จำกัดจำนวนจึงย่ามใจก่อหนี้สร้างสวัสดิการให้กับคนในประเทศและใช้งบประมาณมหาศาลอย่างไม่จำกัดจำนวน แล้วยังขาดดุลการค้าระหว่างประเทศและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้อย่างไร้ขีดจำกัด
       

       ปัจจุบันสหรัฐอเมริกามีหนี้สาธารณะ (ภาครัฐ) สูงที่สุดในโลกคือ 14.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 95 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ซึ่งถือว่าเมื่อเทียบสัดส่วนแล้วยังน้อยกว่าอีกหลายประเทศ ญี่ปุ่น กรีซ อิตาลี สิงคโปร์ ฯลฯ แต่ก็ถือว่าเป็นภาระที่หนักของสหรัฐอเมริกาอยู่ไม่น้อยเพราะเฉพาะดอกเบี้ยอย่างเดียวที่สหรัฐอเมริกาต้องจ่ายต่อปีนั้นมีสูงถึงประมาณ 412,517 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังไม่นับภาระผูกพันกองทุนสวัสดิการสังคมและประกันสุขภาพอีกจำนวนมหาศาลที่กำลังจะกลายเป็นระเบิดทางเศรษฐกิจในอนาคตแน่นอน
       
       แต่การที่สหรัฐอเมริกาได้เพิ่มเพดานหนี้ 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นั้นทำให้ประเทศทั่วโลกต้องตื่นตระหนกกันอีกครั้ง เพราะเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้รู้ว่าสหรัฐอเมริกากำลังยืดหนี้ของตัวเองด้วยการสร้างหนี้ใหม่มาคืนหนี้เก่า เพราะไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้ด้วยตัวเอง นอกจากการกู้เพิ่มขึ้นมาอีก โดยถ้าไม่กู้ต่างประเทศก็คงต้องกู้ธนาคารกลางเพื่อให้พิมพ์ธนบัตรออกมาเพิ่มอีก
       
       และการส่งสัญญาณเพิ่มปริมาณเงินดอลลาร์ไม่หยุดนั้น ย่อมเท่ากับว่าเงินดอลลาร์จะมีเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ เข้าไปในระบบ ก็ยิ่งทำให้ดอลลาร์ด้อยค่าลงอย่างแน่นอน ยิ่งคนทั้งโลกต่างกลัวการถือครองทรัพย์สินในเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ก็ยิ่งทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าร่วงหนักลงไปอีก
       

       และการที่ดอลลาร์อ่อนค่าลงนั้น ก็ย่อมทำให้ “เจ้าหนี้” ของสหรัฐอเมริกาจะต้องได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะทรัพย์สินที่แต่ละเจ้าหนี้ของสหรัฐอเมริกาในแต่ละประเทศนั้นต่างถือครองทรัพย์สินเป็นพันธบัตรสหรัฐอเมริกาอยู่ในทุนสำรองจำนวนมาก โดยปัจจุบันรัฐบาลอเมริกาได้ติดหนี้ต่างประเทศมูลค่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 
       
       จีนเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศในพันธบัตรสหรัฐอเมริการายใหญ่ที่สุด ถือพันธบัตรสหรัฐอเมริกาสูงถึง 1.16 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ญี่ปุ่นถือพันธบัตรสหรัฐฯ เป็นอันดับ 2 สูงถึง 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สหราชอาณาจักรถือพันธบัตรอเมริกาเป็นอันดับ 3 ประมาณ 242,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรวมกันเป็นอันดับ 4 ประมาณ 204.3000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาที่ถือระหว่าง 1-2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คือ ไต้หวัน, บราซิล, กลุ่มศูนย์กลางธนาคารแคริเบียน, ฮ่องกง, รัสเซีย, สวิตเซอร์แลนด์ ตามลำดับ ส่วนประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 52,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 
       
       แต่สหรัฐอเมริกาไม่ได้มีเฉพาะหนี้สาธารณะ (ของรัฐ) ที่เป็นหนี้ต่างประเทศสูงถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น แต่ยังมีหนี้เอกชนในสหรัฐอเมริกาที่เป็นหนี้ต่างประเทศอีก 9.8 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมมีหนี้กับต่างประเทศทั้งรัฐและเอกชนสูงถึง 14.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
       
       ปัญหาหนี้เอกชนที่สูงมากนั้น หากคนทั่วโลกต่างเห็นว่าหนี้ที่ปล่อยกู้ไปนั้นด้อยค่าลง (เพราะเงินดอลลาร์อ่อนค่า) ก็ต้องเร่งเรียกหนี้คืนกลับเร็วมากขึ้น หากมีหนี้ระยะสั้นมากก็จะทำให้เกิดเหตุการณ์เหมือนประเทศไทยในปี 2540 คือเจ้าหนี้เรียกหนี้พร้อมๆ กันจนสถาบันการเงินและลูกหนี้ในประเทศต้องล้มละลายไปเป็นจำนวนมาก เพียงแต่ว่าสหรัฐอเมริกามีเครื่องมืออันมหัศจรรย์ที่สุดในโลกคือให้ธนาคารกลางพิมพ์แบงก์เองออกมาได้อย่างไม่มีจำกัด
       
       และนั่นหมายความว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงอีก ทั้งจากปริมาณเงินดอลลาร์ที่เข้าไปในระบบ และจากการเก็งกำไรและการคาดการณ์ในความเสื่อมถอยของเงินดอลลาร์ก็ยิ่งเป็นตัวเร่งทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐร่วงเร็วขึ้นต่อไปอีก
       
       ใครจะไปยอมให้สหรัฐอเมริกา “ชักดาบ” ไม่ชำระหนี้เอาได้ง่ายๆ คนทั่วโลกจึงต้องกลืนไม่เข้าคายไม่ออกยอมให้ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาพิมพ์แบงก์ออกมาชำระหนี้ดีกว่าไม่ได้คืนอะไร แต่ทุกประเทศทั่วโลกก็คงหาทางผ่องถ่ายทรัพย์สินดอลลาร์ของตัวเองไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ประเทศที่ฉลาดกว่าก็จะพยายามแปลงเป็นทรัพย์สินในประเทศต่างๆ เปลี่ยนเป็นเงินสกุลอื่นๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทั้งผ่านตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร ตลาดตราสารหนี้ ตลาดทองคำ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย
       
       แม้ธนาคารกลางทุกประเทศทั่วโลกพยายามเปลี่ยนสัดส่วนการถือครองทรัพย์สินดอลลาร์สหรัฐอเมริกาจากร้อยละ 70.7 และถือครองสกุลยูโรร้อยละ 19.8 เมื่อ 10 ปีที่แล้ว มาถือดอลลาร์สหรัฐลดลงเหลือร้อยละ 60.7 และถือยูโรร้อยละ 26.6 แต่ก็กลับกลายมาเป็นว่าเงินยูโรกำลังจะมีปัญหาการอ่อนค่าลงอีก เมื่อพบว่า ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปกำลังมีปัญหาอย่างหนัก กรีซ ซึ่งมีสูงถึงร้อยละ 130 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม ได้บานปลายไปถึงอิตาลีซึ่งมีหนี้สาธารณะคิดเป็นร้อยละ 118 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม
       
       ปัจจุบันสหภาพยุโรปมีหนี้ต่างประเทศรวมกันก็สูงมากถึง 13.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 85 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม แต่ก็ยังดีกว่าสหรัฐอเมริกาตรงที่สหภาพยุโรปยังมีทุนสำรองหนุนหลังสูงถึง 852,622 ล้านเหรียญสหรัฐ เพียงแต่เสียเปรียบสหรัฐอเมริกาตรงที่ ดอลลาร์สหรัฐอเมริกายังคงเป็นสกุลเงินหลักที่พิมพ์ออกใช้ทั่วโลกอย่างไม่มีขีดจำกัดจำนวน และสหภาพยุโรปต้องใช้หลายประเทศให้ความเห็นชอบในมาตรการทางการเงิน
       
       ซึ่งแม้ว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และสหภาพยุโรป จะอัดฉีดเงินเข้าไปช่วยกรีซ แต่ก็เป็นเพียงการประคองสถานการณ์เท่านั้น เพราะโดยเนื้อแท้แล้ววิกฤตหนี้ในยุโรปได้เกินกำลังที่สหภาพยุโรปจะเอาเงินของตัวเองไปอุ้มอีกหลายประเทศที่กำลังมีปัญหาที่บานปลายอย่างไร้ขีดจำกัด แนวโน้มเช่นนี้จึงมีโอกาสชักดาบ ตัดลดหนี้สูง 
       
       ในขณะที่กลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาต่างก็ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนักต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี เพราะแท้ที่จริงแล้วความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตได้ย้ายไปอยู่ภูมิภาคเอเชียเป็นส่วนใหญ่แล้ว สืบเนื่องมาจากสิทธิแรงงานและรัฐสวัสดิการในยุโรปอยู่ในระดับสูงจึงไม่สามารถที่จะแข่งขันด้านการผลิต ฐานการผลิตจึงเคลื่อนย้ายไปอย่างยาวนานส่งผลทำให้อัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูงทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยสเปนมีอัตราการว่างงานร้อยละ 20.89, กรีซร้อยละ 15.9, ฮังการีร้อยละ 10.80, ฝรั่งเศสร้อยละ 9.7, อเมริการ้อยละ 9.1 ฯลฯ 
       
       Quantitative Easing (QE)ของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจึงไม่ได้ผล เพราะไม่ว่าจะเป็น QE 1 ที่ธนาคารกลางพิมพ์แบงก์ออกมา 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อซื้อหนี้เสียธนาคาร หรือการออกมาตรการ QE 2 ที่ธนาคารกลางพิมพ์แบงก์ออกมาอีก 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แทรกแซงซื้อตลาดพันธบัตรให้มีราคาสูงเพื่อให้อัตราผลตอบแทนต่ำลงไม่น่าลงทุนนั้น ก็เพื่อหวังว่าการพิมพ์เงินมโหฬารถึง 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จะส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ ไปปล่อยกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศนั้น กลับกลายเป็นว่าเงินเหล่านั้นได้ไหลออกไปนอกประเทศเป็นส่วนใหญ่เพื่อแปลงเป็นเงินและสินทรัพย์ในสกุลเงินอื่น เพราะต่างก็เล็งเห็นทั่วโลกพร้อมๆ กันแล้วว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงทั่วโลก ด้วยเหตุนี้การว่างงานในสหรัฐอเมริกาจึงไม่ได้ผลมากนักเทียบกับเม็ดเงินที่ลงไปอย่างมหาศาลเช่นนี้
       
       และดูเหมือนว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาส่งสัญญาณจะเตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐอเมริการอบใหม่ ซึ่งแนวโน้มก็คือการออกมาตรการ QE 3 ซึ่งอาจสูงถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เข้าไปซื้อตลาดพันธบัตรระยะยาวในตลาดอีก โดยนายพอล ครุ๊กแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล พยายามให้ความเห็นไปยังรัฐบาลให้ออกมาตรการพิมพ์แบงก์ให้มากกว่าเดิมเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ผลถึงประมาณ 8 - 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
       
       ถึงวันนี้ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงของสหรัฐอเมริกาและยุโรป ไม่ได้ช่วยเรื่องการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ และยุโรปเท่าไรนัก เพราะไม่ช่วยทำให้ฐานการผลิตย้ายกลับมาที่สหรัฐอเมริกาเพื่อสร้างงานได้มากขึ้นนัก แถมยังทำให้เกิดปัญหาอัตราเงินเฟ้อมากขึ้นด้วย เพราะอย่างไรเสียสหรัฐอเมริกาและยุโรปไม่ได้มีปัญหาเรื่องแค่ค่าเงิน แต่ยังมีต้นทุนการผลิตที่สูงที่ไม่สามารถแข่งขันได้ อีกทั้งจีนก็ยังใช้นโยบายค่าเงินหยวนอ่อนค่าเกินกว่าความเป็นจริง เพื่อรักษาตลาดอเมริกาและยุโรปซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดให้ใช้สินค้าจากประเทศจีนต่อไป และโครงสร้างของแต่ละประเทศที่ย้ายฐานการผลิตไปอย่างยาวนั้นได้วางโครงข่ายและสาธารณูปโภคการผลิตเกินกว่าที่จะย้ายกลับไปที่สหรัฐอเมริกาได้ง่าย
       
       หมายความว่านับจากวันนี้ เงินดอลาร์สหรัฐและเงินยูโรจะอ่อนค่าต่อไปแน่นอน!
       
       ในขณะที่จีนซึ่งมีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก ก็ไม่ยอมปล่อยให้เงินหยวนออกไปตลาดนอกประเทศเพื่อใช้เป็นเงินสกุลหลักของโลก เพราะจีนเป็นประเทศขนาดใหญ่ไม่ต้องการให้ต่างชาติมาเก็งกำไรในสกุลเงินหยวนของตัวเอง (ซึ่งอ่อนค่าเกินความเป็นจริง) ด้วยเหตุนี้จีนจึงแบ่งกระดานตลาดหุ้นชัดเจน ในกระดานหุ้นต่างประเทศนั้นไม่อนุญาตให้มาแปลงเป็นเงินสกุลหยวนโดยให้ซื้อขายหุ้นในสกุลเงินต่างประเทศเพื่อเป็นการตัดการเก็งกำไรค่าเงินหยวน แถมทุนที่ไหลเข้าไปในประเทศจีนเอาเข้าจริงก็ถอนกลับออกไม่ได้ง่ายๆ เสียด้วย ส่วนเงินดอลลาร์สหรัฐที่อยู่ในทุนสำรองของจีนอย่างมหาศาล จีนก็ใช้ไปซื้อสินค้าที่จับต้องได้ สินแร่ ที่สำคัญของโลก เช่น ทองคำ เงิน ทองแดง เหล็ก เพื่อให้ทรัพย์สินของจีนนั้นไม่ด้อยค่าตามดอลลาร์และยูโร แต่ก็ยังทำได้ไม่มากพอในเวลาที่จำกัด
       
       นั่นเป็นสาเหตุที่เงินทั่วโลกไหลเข้ามายังประเทศที่เปิดรับในการเก็งกำไรค่าเงิน และผลตอบแทนอย่างภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะรัฐบาลไทยซึ่งยังไร้ยุทธศาสตร์ในเรื่องนี้ ทันทีที่มีนโยบายประชานิยมสุดขั้ว เร่งอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ดอกเบี้ยสูงขึ้น อีกทั้งยังประกาศล่วงหน้าจะใช้นโยบายค่าเงินบาทแข็ง ย่อมทำให้เงินทุนจากนอกไหลเข้าออกตลาดหุ้น พันธบัตร ตราสารหนี้ เพื่อทำกำไรสูบความมั่งคั่งกลับคืนไปยังยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้อีกหลายระลอก 
       
       ดังนั้นใครกู้หนี้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอเมริกาในเวลานี้จึงมีแนวโน้มกำไรอัตราแลกเปลี่ยนสูง และใครมีเงินดอลลาร์เก็บเอาไว้ก็คงรีบเอาออกมาขายให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ให้ด้อยค่าไปมากกว่านี้ และกองทุนต่างชาติที่หัวใสกว่านั้นก็คงจะกู้เงินดอลลาร์สหรัฐ (ที่กำลังด้อยค่าลง) เอามาแปลงเป็นเงินบาทกับแบงก์ชาติเพื่อเข้าซื้อหุ้นไทย พันธบัตรไทย ตราสารหนี้ไทย เพื่อเก็งกำไรทั้งจากค่าเงินและการปั่นหุ้น ซึ่งก็จะเป็นการเร่งทำให้เงินบาทแข็งเร็วขึ้นไปอีก
       
       เวลานักลงทุนเห็นการไหลทะลักของทุนนอกเข้าตลาดหุ้นที่มีความเสี่ยงและผันผวน ก็ทำให้คนไทยบางส่วนหนีไปซื้อทองคำจนราคาทะยานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก และจนถึงขั้นในบางวันทองคำแท่งขาดตลาดไม่มีขายเสียด้วยซ้ำในสัปดาห์ที่ผ่านมา
       
       ยิ่งเดือนสิงหาคม 2555 ที่แบงก์ชาติของไทยจะเริ่มใช้กฎหมายสถาบันประกันเงินฝาก ที่จะค้ำประกันเงินผู้ฝากได้เพียงรายละไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อ 1 ธนาคาร ก็ยิ่งจะต้องน่าเป็นห่วงว่าผู้ฝากเงินธนาคารซึ่งเคยเป็นคนไทยที่ไม่ต้องการความเสี่ยงต้องเรียนรู้ที่จะรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นแม้กระทั่ง “ฝากเงินในธนาคาร”
       
       เห็นความผันผวนของเศรษฐกิจโลกขนาดนี้ทำให้นึกถึงความน่าอัศจรรย์ของ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ที่ให้มองเห็นล่วงหน้าให้เก็บสะสมทองคำในคลังหลวงมาล่วงหน้าหลายปี และนึกถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นเศรษฐกิจของจริง กินได้ และสัมผัสได้ ที่ไม่ใช่อยู่บนเศรษฐกิจเทียมบนการเก็งกำไรของโลกที่กำลังเสื่อมถอยในทุกวันนี้...

ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th
โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ :9 สิงหาคม 2554 16:26 น.



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น