วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2555
พุทธพาณิชย์อู้ฟู่ วิสาขะ..วัดรวย เงินสะพัด 6 พันล...
วัดครึ่งนึง กรรมการครึ่งนึง...พุทธพาณิชย์เบ่งบานมาช้านาน เป็นเงามืดด้านหนึ่งของพระพุทธศาสนา จึงมีคำถามว่า ศาสนาพุทธนั้น เน้นเรื่องพระธรรมคำสอน ยึดถือปฏิบัติ ไม่ใช่หรือ ทำไมวัด พระสงฆ์ ในสังคมพระพุทธศาสนาของไทย จึงมุ่งแต่การเรี่ยไรเงิน ทรัพย์สิน เพื่อมาสร้างวัตถุ เช่น ศาลา โบสถ์ วิหาร อย่างยิ่งใหญ่เกินตัว
มีการวิเคราะห์พบว่า ในวันพระใหญ่แต่ครั้ง มีเงินสะพัดจากเงินทำบุญถึงครั้งละ 6 พันล้านบาท แต่ขณะที่ปีหนึ่งคนไทย ทำบุญเข้าวัดถึงปีละ 3.5 หมื่นล้านบาท
เศรษฐกิจเงินบุญ
ศาสนาพุทธในเมืองไทยนั้นมีธรรมชาติอยู่อย่างหนึ่งคือดำรงอยู่ด้วยศรัทธาจากพุทธศาสนิกชน และยอมรับว่าการจะดำรงคงอยู่ของพุทธศาสนาในเมืองไทยจำเป็นต้องมีเงินเข้ามาหล่อเลี้ยง ทว่าด้วยศรัทธาของสังคมที่มีรากฐานความเชื่อในพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน
การบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้คนนั้นแขวนเกี่ยวอยู่กับความเชื่อเรื่องบุญกรรมก็ทำให้ประเทศไทยถึงขั้นติดอันดับหนึ่งเรื่องใจบุญที่สุดในโลกมาแล้ว จากการเปิดเผยของมูลนิธิช่วยเหลือการกุศลแชริตี เอด ฟาวน์เดชั่น (ซีเอเอฟ) แห่งสหราชอาณาจักรโดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อประชากรพบว่าคนไทยร้อยละ85 บริจาคเงินเป็นประจำ
เกียรติอนันท์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดเผยถึงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า คนไทยทำบุญเฉลี่ย 250 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ทำให้เห็นได้ว่าตลาดการทำบุญนั้นมีมูลค่าถึง 5 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยมีทั้งบริจาคเข้าวัดและบริจากเพื่อการกุศลอื่นๆด้วย และคิดรวมถึงการบริจาคเป็นสิ่งของ
“ผมคิดว่าทำบุญเข้าวัดก็ไม่ต่ำกว่า3หมื่น 5 พันล้านบาทต่อปี โดยในวันพระใหญ่แต่ละวันผมคิดว่าน่าจะมีเงินไหลเวียนไม่ต่ำกว่า 6พันล้านบาท ซึ่งการที่เงินไหลเวียนระดับนี้ เรากำลังพูดถึงธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาลที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของศาสนาพุทธเป็นหลัก”
ในมุมด้านการตลาดนั้น ความศรัทธาต่อวัดคือส่วนหนึ่งที่จะทำให้ผู้คนแห่แหนกันไปร่วมทำบุญบริจาค ซึ่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยดังกล่าว มองว่า คนไทยจะบริจาคเงินเกิดจากความเชื่อเรื่องบุญที่จะได้รับผลตอบแทน ได้ขึ้นสวรรค์ ได้พบประสบสิ่งดี ดังนั้นการทำบุญกับวัดที่ดีน่าเลื่อมไส หรือกับพระที่ประพฤติตนให้เป็นที่ศรัทธาจึงเป็นสิ่งที่ชาวพุทธยึดถือปฏิบัติกัน
“เหมือนคนจะมองว่าการบริจาคให้พระนั้น ความบริสุทธิ์ของพระจะมีผลต่อปริมาณบุญที่จะได้รับกลับมา แต่เราไม่มีเครื่องวัดความบริสุทธิ์ของพระ เพราะฉะนั้นจึงยึดเอาชื่อเสียงมาเป็นเกณฑ์ พระเกจิอาจารย์ดังๆ ทำบุญกับท่านรับพรจากท่านก็น่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่า
“เพราะฉะนั้นถึงแม้เงินจะไหลเวียนสูงถึง 35พันล้าน แต่จริงๆ กระจุกอยู่ในวัดใหญ่มากกว่าวัดเล็กๆ เราจึงเห็นวัดบางวัดต้องปิดตัวไป หรือต้องอยู่กันแบบสภาพทรุดโทรม บางวัดศาลามูลค่า 50-60ล้านได้ แต่ว่าบางวัดแค่ศาลายังไม่มีเลย”
ความศรัทธาของชาวพุทธนอกจากศรัทธาในตัวพระเป็นรายบุคคล ซึ่งอาจเกิดจากการที่ลูกศิษย์บางคนเคารพนับถือแล้วได้โชคได้ดี จึงนำไปเล่าลือกลายเป็นชื่อเสียงของท่าน พุทธศาสนิกชนก็ยังศรัทธาในวัดใหญ่ๆที่มีชื่อเสียงด้านความดีของพระในวัด ซึ่งเกียรติอนันท์เห็นว่า วัดเหล่านี้เปรียบเสมือนแบรนด์ที่มีความแข็งแรงอยู่แล้ว ขณะที่วัดเล็กๆก็ลำบากในการดำรงไว้ซึ่งพุทธศาสนา
“การทำบุญของคนไทยนั้นไม่ได้ทำบุญจนเกินตัว ก็จะรู้จักประมาณตนอยู่ในระดับนึงอยู่แล้ว ซึ่งก็จะเป็นการทำบุญเพื่อผ่อนคลายจากความตึงเครียดจากการทำงาน ผมคิดว่าต่อให้มูลค่าการทำบุญตรงนี้มันโตขึ้นก็ไม่เสียหาย เพราะผลที่ได้รับนั้นมันมากกว่า นั่นคือการที่คนไทยมีสำนึกทางจิตใจที่ดีขึ้น”
ทำบุญให้ถึงแก่น
จากมูลค่าของเงินที่ไหลเวียนอยู่ในการทำบุญของชาวพุทธ ด้านหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือการเสาะหาผลประโยชน์จากบุคคลบางกลุ่ม กรณีของพระจัดงานบุญเรี่ยไรจึงเกิดขึ้นบ่อยๆ บางครั้งถึงขั้นนำสวรรค์นำนิพพานมาขาย ในมุมมองของผู้ที่ดำรงอยู่ในแวววงพุทธศาสนาอย่าง หลวงพ่อทอง อาภากโร เจ้าอาวาสวัดสนามใน ให้ข้อคิดว่า ถ้าพูดถึงเรื่องพระแสวงหาผลประโยชน์ก็เห็นจะพูดกันได้ไม่จบ
“หลายครั้งมันเกินความจำเป็น บางวัดสร้างกันจนไม่มีที่ยืนให้กับต้นไม้ มันโฆษณากันเกินไป เดี๋ยวก็สร้างเจดีย์ ศาลา เดี๋ยวก็สร้างอะไรที่ใหญ่ที่สุดในโลก มันกลายเป็นทำให้คนโลภ คนไม่โลภในวัตถุ แต่โลภบุญ เรียกอีกอย่างว่า เมาบุญ จิตใจมันก็ตกต่ำเหมือนกัน”
อย่างไรก็ตามเป็นข้อสังเกตว่า บางทีการทำบุญมากๆในสังคมไทย อาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่า เพราะผลประโยชน์ที่มากขึ้น ทำให้คนที่จิตใจอ่อนแออาจไหลเอนไปตามเงินที่มากองตรงหน้า
“ถ้าฝึกมาไม่ดี จิตใจอ่อนแอเรียกว่าเสียพระเลยนะ กลายเป็นทำให้พระโลภ แล้วพระก็นำให้คนโลภไปอีก บวชซื้อรถ บวชผ่อนบ้าน พระบางรูปทำเป็นธุรกิจเลยนะ พุทธศาสนาในสังคมไทยเป็นเรื่องของรูปแบบมากจนเกินไป”
โดยชาวพุทธในเมืองไทยนั้นการทำบุญ รักษาศีลเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ยังขาดการปฏิบัติ ในที่นี้ก็คือการมีสติอยู่กับปัจจุบัน การตื่นรู้ในทุกขณะจิตของชีวิต รู้ถึงทุกข์ รู้ถึงเหตุแห่งทุกข์ แล้วถึงลงมือดับทุกข์ด้วยตัวเอง
“คราวนี้เราไม่รู้ คนไม่รู้ไม่เข้าใจ มันก็เดินผิดทิศหลงทาง ไปแก้กรรมบ้าง ไปสะเดาะเคราะห์ ศาสนาพุทธตอนนี้มันติดอยู่ที่พิธีกรรมมากจนเกินไป ถ้ารู้มีสติก็แก้ไขมันดำรงอยู่ในการใช้ชีวิตปกติ”
ในความเห็นของเจ้าอาวาสวัดสนามในมองว่า ทางออกนั้นต้องเริ่มจากคณะสงฑ์ที่ต้องหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งที่ควรนั่นคือการมุ่งเน้นที่การปฏิบัติ เพราะอย่างไรเสียพระก็ต้องเป็นฝ่ายนำผู้คนในสังคมให้ไปพบกับหนทางที่ถูกต้อง
“คือถ้าให้คนธรรมดาหันมานำพระ เลิกบริจาค คนธรรมดาก็จะรู้สึกบาป ไปเถียงพระ ดังนั้นพระต้องเป็นฝ่ายนำ”
ในวันพระใหญ่แต่ละวันนั้น หลวงพ่อทอง อาภากโรให้คำแนะนำง่ายๆว่า วันเหล่านี้ถือเป็นหมุดหมายหนึ่งในการริเริ่มในการปฏิบัติธรรม
“ไม่ต้องทำอะไรมาก ไม่ต้องมีวัตถุเยอะแยะ ปฏิบัติก็คือให้เราอยู่กับตัวเอง มีสติ รู้ตัว แค่นี้ก็เป็นการกระทำบุญที่ถูกที่ตรง ไม่ต้องเอาวัตถุมากมายมาสักการะบูชา มันเป็นแค่ส่วนประกอบนิดหน่อย การปฏิบัติบูชาเป็นที่สุด ไม่ต้องมีการบริกรรมคาถา ให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน การยืน การนั่ง การนอน การเดิน การพูด การเหยียด การเคลื่อน การไหวยิ่งเป็นบุญสูงเป็นบุญที่สุดเลย ให้เรามีสตินี่แหละ”
วิธีทำบุญในวันพระใหญ่
1.ให้ทำบุญกับวัดที่คนไม่ค่อยไปเพื่อกระจายเงินไปยังวัดที่ยังขาดแคลนบ้าง
2.เลือกวัดที่ดีที่ตอบแทนกลับสู่สังคมด้วย
3.หากทำไม่ได้ทั้งสองข้อแรก (ไม่มีเวลาพอจะหาวัด) ก็อาจจะไม่ต้องทำบุญเป็นสิ่งของ หรือเงินทอง เพียงแค่ปฏิบัติธรรมด้วยตัวเองก็ถือเป็นบุญที่สูงสุดแล้ว
ภาพประกอบจาก อินเทอร์เน็ต
ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น