วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เปิดชนวนนองเลือดครั้งใหญ่ ชี้ ทักษิณแปลสัญญาณอำมาตย์ผิด


ประมวล 7 ประเด็นปัญหาที่จะทำให้การเมืองวิกฤตและนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ ที่คนทั้งประเทศไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เชื่อครั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ สู้หมดหน้าตัก ชนิดที่แพ้ไม่ได้อีกแล้ว ด้านฝ่ายความมั่นคง ระบุ พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้วาทกรรม ‘เปลี๊ยนไป๋’ จากราชดำริถึงเมืองทองธานี เพราะแปลสัญญาณ ‘อำมาตย์’ ฝ่ายตัวเอง ที่สื่อไปถึงผิดความหมาย สุดท้ายจึงสั่งสู้หัวชนฝา! 
             ปัจจุบันรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เดินมาถึงทางแยกที่ต้องตัดสินใจอย่างหนัก ว่าจะเดินหน้า พ.ร.บ.ปรองดองต่อหรือไม่ เพราะกระแสคัดค้านของสังคมเริ่มมีพลังขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบที่เรียกว่า “จุดติด” โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวอันทรงพลังของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มเสื้อหลากสี ฯลฯ รวมไปถึงกระแสการต่อต้านคัดค้าน พ.ร.บ.ปรองดองในโลกของโซเซียลเน็ตเวิร์กทั้งทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก
            ล่าสุดกระแสของประชาชนทั่วไปยังสะท้อนผ่าน ดุสิตโพล และเอแบคโพลล์ อยากให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ หันมาแก้ปัญหา “ข้าวของแพง” เป็นอันดับแรก ก่อนที่จะไปเดินเรื่องปรองดองเพราะจะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายอย่างหนัก
             ซ้ำร้าย ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 2555 ว่าลดลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2554 และคาดว่าการบริโภคของประชาชนจะชะลอตัวลงถึงไตรมาส 2 ของปี 2555 นี้ เนื่องจากกังวลสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มขาดเสถียรภาพ
            แต่สุดท้ายรัฐบาลยังเลือกที่จะเดินหน้า พ.ร.บ.ปรองดอง รวมกับเหตุการณ์อื่นๆ ที่พร้อมเดินหน้าทั้งกระแสหนุน-กระแสต้าน ที่ล้วนเป็นชนวนทำให้บ้านเมืองแตกแยกครั้งใหญ่ และอาจหนักหนาสาหัสกว่าเหตุการณ์ร้อนแรงทางการเมืองทุกเหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมา เพราะทุกฝ่ายในเวลานี้กำลัง “เทหมดหน้าตัก” ในศึกครั้งสุดท้าย และฝ่ายไหนจะแพ้ไม่ได้ เพราะเดิมพันครั้งนี้สูงค่ายิ่ง!
             อะไรคือประเด็นปัญหาที่จะเพิ่มดีกรีความร้อนแรงทางการเมืองขึ้นไปอีก และสุดท้ายจะนำไปสู่ความรุนแรงถึงขั้นนองเลือดในบ้านเมืองได้หรือไม่?
       
       7 ประเด็นร้อน! ทักษิณทำบ้านเมืองลุกเป็นไฟ
            ประเด็นแรก เรื่องร้อนที่สุดยังเป็นเรื่องของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ... ที่วิปรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาล เตรียมเดินหน้าอย่างสุดกำลัง ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาตินั้นถูกแนบแทรกคิวเข้าไปอยู่กับการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ รายละเอียดสำคัญแม้จะเป็นการให้เหตุผลที่ดูดีว่าเพื่อยุติความขัดแย้งในบ้านเมือง แต่ปรากฏว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กลับมุ่งล้มล้างอำนาจของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพื่อช่วยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลุดพ้นคดีความที่เกิดขึ้นทั้งหมด หลังจากมีการปฏิวัติรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
          โดยรวมทั้งคดีที่มีการตัดสินไปแล้ว อย่างคดีที่ดินรัชดาฯ คดีซุกหุ้นที่จะเป็นการคืนทรัพย์สินให้ พ.ต.ท.ทักษิณ 4.6 หมื่นล้านบาท และสามารถกลับประเทศไทยได้อย่างไร้ราคี
       อย่างไรก็ดี เนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ทั้ง 4 ร่างนั้น เน้นประเด็นเพื่อช่วยล้างความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เท่านั้น ถือเป็นการล้มล้างคำตัดสินของศาล ซึ่งถือเป็นการล้มล้างอำนาจระบบยุติธรรมของไทย ซึ่งประชาชนไทยส่วนใหญ่จะรับไม่ได้ เพราะเป็นการกระทำที่ทำให้บ้านเมืองเสียหายมาก และเสียหายในระยะยาว
         ประเด็นที่สอง คือการแก้ประมวล
       กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่กลุ่มคนเสื้อแดง โดยเฉพาะแกนนำกลุ่มซ้ายเก่า และกลุ่มอาจารย์นิติราษฎร์ต้องการให้มีการแก้ไข โดยเสนอให้ยกเลิกการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และใช้กฎหมายใหม่ 4 มาตราคือ โทษหมิ่นประมาทต่อพระมหากษัตริย์ ให้มีโทษจำคุก 2 ปี โทษปรับ 50,000 บาท,โทษดูหมิ่น/อาฆาต ต่อพระมหากษัตริย์ โทษจำคุก 1 ปี โทษปรับ 20,000 บาท,หมิ่นประมาท ราชินี-รัชทายาท-ผู้สำเร็จราชการ โทษจำคุก 1 ปี และปรับ 30,000 บาท, ดูหมิ่น/อาฆาต ราชินี-รัชทายาท-ผู้สำเร็จราชการ โทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท โดยทั้งหมดไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ เว้นโทษเมื่อแสดงความเห็นเชิงวิชาการและสำนักราชเลขาธิการเป็นผู้กล่าวโทษเท่านั้น
             ประเด็นนี้ แม้รัฐบาลจะประกาศยืนยันว่าจะไม่แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยเด็ดขาด แต่ยังปรากฏกลุ่มคนในขบวนการคนเสื้อแดงที่ยังเดินหน้าเคลื่อนไหวต่อไป
         ดังนั้น หากวันใดรัฐบาลหยิบเรื่องนี้มาเดินหน้าก็จะเป็นอีกชนวนใหญ่ที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มเสื้อหลากสี และมวลชนของพรรคประชาธิปัตย์จะเดินหน้าคัดค้านอย่างถึงที่สุดเช่นกัน เนื่องจากเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และมุ่งหวังที่จะทำลายสถาบันกษัตริย์อย่างชัดเจน 
         ประเด็นที่สาม การแก้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะล้มล้างอำนาจ คตส. หรือคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินแห่งรัฐ รวมถึงการปรับเปลี่ยนที่มาของศาล อันมีจุดมุ่งหมายที่จะลดอำนาจการตรวจสอบ ทำลายระบบตุลาการของประเทศไทย ก็ยังเป็นประเด็นร้อนที่คนในสังคมยังรับไม่ได้ โดยเฉพาะมาตรา 309 และ 237
        เพราะมาตราทั้งสองนั้น เป็นการล้มล้างอำนาจ คตส. ซึ่ง คตส.นั้นถูกตั้งขึ้นมาโดยคณะปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 เพื่อตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบของ พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดนั้น
        โดย คตส.ได้ทำการตรวจสอบทั้งหมด 14 คดี มีคดีที่ตัดสินแล้ว 2 คดีคือ คดีที่ดินรัชดาฯ ที่ตัดสินว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิดจริงและต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี และคดีซุกหุ้น ที่ตัดสินให้มีการยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ 4.6 หมื่นล้านบาท
        ดังนั้น หากล้มอำนาจ คตส.ได้ เท่ากับว่าคดีทั้ง 14 คดีที่มีการตรวจสอบจะเป็นโมฆะ รวมทั้งคดีที่มีการตัดสินในกระบวนการชั้นศาลไปแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการทำลายระบบยุติธรรมของไทยอย่างร้ายแรง 
        ประเด็นที่สี่ คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่รับคำร้อง ในคำกล่าวหาที่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาลมีเจตนามิชอบต้องการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องไปเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 55 โดยใช้อำนาจในเชิงป้องกัน โดยมีมติให้สภาฯ ชะลอการรับร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ไว้ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับบ้านเมือง
       เหตุการณ์นี้ทำให้วิปรัฐบาล และประธานรัฐสภาประกาศไม่รับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยตีความในรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้อง แต่ผู้ร้องต้องร้องผ่านอัยการสูงสุด และให้อัยการสูงสุดมีความเห็นส่งฟ้องศาลรัฐธรรมนูญเอง เป็นเหตุให้โฆษกศาลรัฐธรรมนูญได้ออกมาชี้แจงกับสาธารณชนว่า ศาลได้พิจารณาในประเด็นดังกล่าวก่อนแล้ว และศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่จะกระทำได้
       
            อย่างไรก็ดี ประเด็นคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญนั้น กลุ่มคนเสื้อแดงและพลพรรคเพื่อไทยต่างไม่ยอมรับอำนาจศาลและมีท่าทีเคลื่อนไหวตามมา โดยวิปรัฐบาลรวมทั้งพลพรรคพรรคเพื่อไทย มีมติเตรียมให้ ส.ส.125 คนลงชื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 8 คน ยกเว้น ชัช ชลวร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยที่มีความคิดเห็นต่าง รวมทั้งยังให้คนเสื้อแดงล่ารายชื่อเพื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นเดียวกันด้วย
       ‘ม็อบชนม็อบ’สัญญาณปฏิวัติ! 
            ประเด็นที่ห้า พฤติกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่หยุดเคลื่อนไหว และมีท่าทีสั่งการเดินหน้าชนทุกๆ เรื่องและทุกๆ กลุ่มที่ขัดขวาง โดยเฉพาะหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สภาชะลอการรับร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 แต่ปรากฏว่า สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ยังเดินหน้า ด้วยการนัดสมาชิกรัฐสภาลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้
        อีกทั้งยังมีการโฟนอินไปถึงกลุ่ม นปช.อย่างต่อเนื่องให้มีการเตรียมเคลื่อนไหวทั้งม็อบสนับสนุนรัฐบาล เตรียมต่อต้านรัฐประหาร และยังมีกรณี เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ซึ่งสังคมตั้งข้อสงสัยถึงความเอียงไปในทางเสื้อแดง ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงนี้ด้วย
         นอกจากนี้สัญญาณจากการโฟนอินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในช่วงที่ผ่านมาชัดเจนมากว่าเป็นการระดมพลเพื่อจัดม็อบสู้ฝ่ายต่อต้าน ซึ่งเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจากการวิดีโอลิงก์ของ พ.ต.ท.ทักษิณในงานรำลึก 2 ปี ราชประสงค์ ที่จะให้คนเสื้อแดงลืมอดีต และยอมถอยคนละก้าวเพื่อการปรองดอง
        แต่ล่าสุด พ.ต.ท.ทักษิณ กลับโฟนอินเข้ารายการ ความจริงวันนี้ ของ 3 เกลอ และสั่งให้มวลชนเตรียมสู้เต็มที่
             “ไม่คิดจะทอดทิ้งคนเสื้อแดง และยังส่งคนไปช่วยเหลือตลอดเวลา เพราะมีหน้าที่สนับสนุน เราหัวใจถึงกัน ไม่ทิ้งกัน ที่พูดว่าอยากให้ปรองดองเพื่อให้ประเทศเดินหน้า แต่วันนี้เห็นแล้วว่าคนเสื้อแดงยังติดคุกอยู่หลายคน เพราะศาลไม่ให้ประกัน ดังนั้นเราต้องไม่ทะเลาะกันเอง ต้องช่วยกันเอาประชาธิปไตยกลับคืนมา แม้จะมีนักเลือกตั้ง แต่ไม่รักประชาธิปไตย จนกลัวว่าไทยจะเป็นเผด็จการแทนที่พม่า เราจะไม่ยอมถอย จะสู้ต่อไป รับรองว่า เที่ยวนี้ความสามัคคีพวกเราจะเป็นปึกแผ่น และหากได้กลับบ้านแล้วก็ต้องตอบแทนบุญคุณพี่น้องเสื้อแดง” คำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่โฟนอินเข้ารายการ ความจริงวันนี้ ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้สภาฯ ชะลอการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3
           ประเด็นที่หก ม็อบชนม็อบ การประท้วงคัดค้านของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในครั้งนี้ต้องยอมรับว่าเป็นการชุมนุมไร้อาวุธที่จุดติด ทรงพลัง และจะเดินหน้าคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง คัดค้านการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพียงคนเดียวอย่างถึงที่สุดนี้นั้น กำลังได้รับความสนใจและเข้าร่วมจากประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง
          ล่าสุด กลุ่ม นปช.ได้ประกาศจะตั้งม็อบมาสนับสนุนรัฐบาล และมีกระแสข่าวด้วยว่ารัฐบาลได้ระดมข้าราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้มาจัดม็อบสนับสนุนรัฐบาลอีกส่วนหนึ่งด้วย
          ความร้อนแรงที่สุดที่ทำให้บ้านเมืองถึงขั้นร้อนเป็นไฟ คือ ประเด็นที่เจ็ด เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังยืนยันจะให้มีการทำม็อบชนม็อบเพื่อสู้ศึกครั้งสุดท้าย น่าจะเป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้ทหารจำต้องออกมาควบคุมสถานการณ์ และอาจถึงขั้นปฏิวัติรัฐประหารที่คาดว่าจะเป็นการปฏิวัติที่จะมีการนองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ได้
         “ตอนนี้ขึ้นอยู่กับกุนซือต่างๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว ตั้งแต่ พล.อ.สุกำพล สุวรรณทัต บ้านเลขที่ 111 บางคน เช่น ภูมิธรรม เวชยชัย, นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ฯลฯ ว่าจะเสนอแนวทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณเดินหน้าต่อไปอย่างไร คนกลุ่มนี้สำคัญมาก เพราะจะแนะนำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ หยุดได้ แต่ถ้าไม่แนะนำให้หยุด บ้านเมืองก็จะร้อนเป็นไฟ”
      เสียงปืนแตกนัดแรก-รัฐบาลคือฝ่ายแพ้
          แหล่งข่าวด้านความมั่นคง วิเคราะห์ให้ ASTV ผู้จัดการรายวัน ฟังว่า ฝ่ายรัฐบาลควรจะต้องยอมรับว่าแพ้แล้ว เพราะขบวนการทั้งหมดเดินหน้าเพื่อช่วยคนเพียงคนเดียวคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีความชอบธรรมอะไรทั้งสิ้น แต่อีกฝ่ายคือฝ่ายค้านของภาคประชาชนกลับเดินหน้าเพื่อปกป้องระบบศาล คัดค้านการแทรกแซงอำนาจตุลาการ หรือ Check and balance ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำเพื่อประเทศชาติเป็นหลัก จึงมีความชอบธรรม ศึกครั้งนี้จึงเดิมพันสูงมากเพราะเป็นเรื่องของการปกป้องระบอบการปกครองของบ้านเมือง
        ทั้งนี้ หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ยังเลือกเดินหน้าดัน พ.ร.บ.ปรองดองเพื่อให้ตัวเองกลับประเทศไทยได้โดยเร็วที่สุด ก็ต้องยอมรับว่าเมื่อไรก็ตามที่มีเสียงปืนแตกจากฝ่ายตำรวจ ถือว่ารัฐบาลเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างหมดรูป
        “ขณะนี้เชื่อว่ามีคนที่ต้องการใช้ความรุนแรง เพราะมีการเปลี่ยนตัวตำรวจ จาก พล.ต.ท.วินัย ทองสอง เป็นพล.ต.ต.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ซึ่ง พล.ต.ต.คำรณวิทย์คนนี้มีประวัติในการใช้ความรุนแรงในภาคใต้มาก่อน แสดงว่ามีคนต้องการให้ใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุม”
       แต่หากเมื่อไรที่ตำรวจใช้ปืนหรืออาวุธกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธ ก็จะพ่ายแพ้ทันที ไม่เหมือนเหตุการณ์ปี 2553 เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมมีความชอบธรรมในการชุมนุมเพื่อรักษาระบบยุติธรรมของประเทศ
           ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงยังเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะไม่ยอมหยุดแน่นอน!
          “เราต้องสังเกตว่า พ.ต.ท.ทักษิณ พูดอะไรกับคนเสื้อแดง ตอนแรกพูดว่าเสื้อแดงเหมือนเรือจ้างส่งเขาถึงฝั่งแล้ว ต่อไปไม่ต้องเพราะเป็นหน้าที่ของเขาเองที่จะขึ้นเขา ประโยคนี้มีความหมายเพราะแปลว่า พ.ต.ท.ทักษิณเชื่อมั่นว่าสัญญาณที่ตัวเองได้รับเป็นสัญญาณดี จึงเดินหน้าปรองดองเต็มที่ แต่สุดท้ายมันผิดพลาด”
           สำหรับความผิดพลาดในครั้งนี้ น่าจะมีอยู่แค่ 2 ปัจจัย คือ 1. คนในกลุ่มอำมาตย์ที่เป็นคนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ส่งสัญญาณผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ 2. พ.ต.ท.ทักษิณเข้าใจสัญญาณนั้นผิดเอง
           “ที่ผ่านมาไม่แน่ใจว่าเข้าใจผิด หรือได้สัญญาณมาผิด ทำให้ลำพองใจ เดินหน้า พ.ร.บ.ปรองดอง น่าแปลกที่พอเอา พ.ร.บ.ปรองดองขึ้นมา สถานการณ์ก็พลิก ไม่ใช่เป็นแบบที่ พ.ต.ท.ทักษิณ คิด จึงเกิดปฏิกิริยาต่อต้านมากกว่าที่คิด ดังนั้น ตอนนี้ พ.ต.ท.ทักษิณจึงโมโหมาก และปรับเปลี่ยนท่าทีที่มีกับคนเสื้อแดงทันที และโฟนอินให้เสื้อแดงเตรียมต้านรัฐประหาร”
          ดังนั้น สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นจึงขึ้นอยู่กับ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นหลัก ว่าจะกลับไปคิดและตัดสินใจอย่างไร หรือจะตัดสินใจบนอารมณ์โกรธ โมโห ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่าย และกุนซือของ พ.ต.ท.ทักษิณจะมีบทบาทมากที่จะแนะนำ
         “สุดท้ายจะใช้วิธี ม็อบชนม็อบ ก็ต้องทำใจ ซึ่งจะเป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้ทหารออกมาควบคุมสถานการณ์ หรือกระทั่งปฏิวัติรัฐประหาร ครั้งนี้ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณแพ้ ก็จะแพ้อย่างหมดรูป เพราะไม่เหลือความชอบธรรมอะไรเลย จึงต้องคิดให้ดี จะปล่อยให้บ้านเมืองวุ่นวายหรือไม่”
     แหล่งข่าวด้านความมั่นคง ระบุว่า ทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้ รัฐบาลควรปิดประชุมสภาฯ ไปก่อน ตามข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์
          ถ้ายังดื้อดึงที่จะเดินหน้า พ.ร.บ.ปรองดองต่อ เชื่อว่าความรุนแรงอาจจะเดินหน้าไปจนถึงขั้นนองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย เพราะใครจะยอมได้ ในเมื่อที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกระบุว่ามีพฤติกรรมทุจริตประพฤติมิชอบที่ชัดเจน อีกทั้งในการตัดสินคดีของศาล ก็มีเหตุมีผลที่ประชาชนเขารับฟังกันแล้วทั่วประเทศ การล้มล้างอำนาจ คตส. แทรกแซงระบบตุลาการครั้งนี้ของ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้!
        จากนี้ไปจึงต้องจับตาดูว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะตัดสินใจเลือกทางเดินเช่นใด จะเดินหน้าสั่งการให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พรรคเพื่อไทยและมวลชนคนเสื้อแดง ใช้ม็อบชนม็อบเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเองและตระกูลชินวัตร โดยไม่นึกถึงความเสียหายของประเทศ หรือจะยอมเสียสละเพียงคนเดียวเพื่อให้ประเทศไทยรอดจากวิกฤตการเมืองครั้งนี้เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศกันแน่ ?!...


ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th  : 7 มิถุนายน 2555 09:04 น.





0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น