วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2555
เปิดชนวนสงครามแย่งน้ำมันไทย – กัมพูชา
ผมลืมไปว่าได้เขียนเรื่องพลังงานกับประเทศเพื่อนบ้านมาแล้วทั้งจีน ลาวในฐาน Battery ของเอเชีย และพม่าที่มีขุมทรัพย์มหาศาลทั้งเขื่อนและก๊าซธรรมชาติแล้ว ยังขาดอีกประเทศที่จะเป็นอนาคตมหาเศรษฐีในภูมิภาคนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือกัมพูชาที่ล่าสุดมีการประเมินว่า จะเป็นผู้ส่งออกน้ำมัน-ก๊าซรายใหญ่รายใหม่ของโลก
หลังจากที่เชฟรอน (Chevron Corporation) บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาประกาศเมื่อปี 2548 ว่าได้ค้นพบบ่อน้ำมัน-ก๊าซขนาดใหญ่ ในพื้นที่ 2,427 ตารางกิโลเมตรทางใต้ของประเทศกัมพูชา โดยรายงานว่าบ่อขุดเพื่อการสำรวจ 5 จุด พบน้ำมันถึง 4 จุด ในพื้นที่สัมปทานแปลงเอ เนื้อที่ 6,278 ตารางกิโลเมตรของเชฟรอน จากเดิมที่เคยคาดว่าจะมีน้ำมันราว 400 ล้านบาเรล แต่อาจจะมีมีน้ำมันสำรองมาก 2 เท่าถึง 700 ล้านบาเรล รวมถึงก๊าซธรรมชาติอีกระหว่าง 3 ล้านล้าน ถึง 5 ล้านล้าน ลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ธนาคารโลกกล่าวว่า หากรวมทั้งหมด แหล่งพลังงานสำรองของกัมพูชาน่าจะเป็นน้ำมันถึง 2 พันล้านบาเรล และก๊าซธรรมชาติที่ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กัมพูชาไม่น้อยกว่า US$2 พันล้านเหรียญต่อปี หลายเท่าตัวของ GDP ภายในประเทศ ในปี 2009 เป็นต้นไป และคาดว่า GDP ของกัมพูชาจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เท่า หรือจะมีรายได้ประมาณปีละ 1,700 ล้านดอลลาร์ เทียบราคาน้ำมันดิบบาร์เรลละ 60 ดอลลาร์ ขณะที่เดิมปัจจุบันภาพคือการพึ่งเงินช่วยเหลือจากต่างชาติ ราว 60% ของงบประมาณ ประชากรเกือบ 14 ล้านคน 35% อาศัยอยู่ในความยากจนที่ต่ำสุด มีรายได้เฉลี่ยวันละ 50 เซ็น (ไม่ถึง 10 บาท) เท่านั้น
กระทั่งมีกระแสข่าวอย่างต่อเนื่อง ถึงความเนื้อหอมใน 2 ทางคือ การเข้ามาสัมปทานโดยตรงคือ มีบรรษัทน้ำมันข้ามชาติยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ในโลก มาเข้าคิวกันขอใบอนุญาตเพื่อขุดน้ำมันขึ้นมาใช้ยาวเหยียด ปัจจุบันแปลงสัมปทานของรัฐบาลมี 5 แปลง ขณะนี้กำลังแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ระหว่างบริษัท Total SA ของฝรั่งเศส กับชีนุ๊ก (China National Offshore Oil Corp - CNOOC) ของจีน เพื่อขอสัมปทานในแปลง B เนื้อที่ 6,557 ตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ บริษัทจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส คูเวต ไทย มาเลเซีย ออสเตรเลียและสิงคโปร์ กำลังเข้ามาขอประมูลกันอย่างเข้มข้น แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ชัดว่า รัฐบาลกัมพูชาจะเอาแปลงขุดในทะเล ทั้ง 6 แปลง ออกมาเปิดให้ประมูลจริงมากน้อยแค่ไหน
ส่วนอีกทางคือการเข้ามาบริจาคสนับสนุนกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่งทั้ง สหรัฐฯ ไทย จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย ฯลฯ ทั้งในเครื่องโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟ ถนน ฯลฯ พลังงาน คือการสร้างเขื่อน ขุดเหมือนแร่ นอกจากนั้นยังมีการเปิดบ่อนการพนัน ตึกที่ทำการสภารัฐมนตรี การสร้างโรงแรมฯลฯ ในหลายรูปแบบ
กลับกลายว่ากัมพูชาคือดุลอำนาจประเทศอีกแห่งหนึ่งที่ยักษ์มหาอำนาจกำลังดึงไปเป็นพวกของตน อย่างน้อย 2 ค่ายคือสหรัฐ และจีนที่กำลังพลิกแผ่นดินหาบ่อน้ำมันใหม่ ๆ โดยเฉพาะบริษัทจีนได้วิ่งเต้นขอประมูลแปลงบีเกือบทั้งหมด โดยเสนอใช้เครื่องมือช่วยเจ้าหน้าที่ทางพลังงานชาวกัมพูชา ตรวจสอบชั้นใต้ดิน โดยระบบสั่นสะเทือน (seismic tests)
ประเด็นสำคัญตอนนี้มี 3 ประเด็นที่น่าสังเกตุเกี่ยวกับอนาคตพลังงานของกัมพูชาคือ
1.) กัมพูชายังอุบไต๋ปริมาณน้ำมันในบล็อก A ซึ่งไม่แน่ว่าจะเป็นการลักไก่หน้าไพ่หรือเปล่า
2.) สัญญาการผลิตน้ำมัน-ก๊าซที่ทำกับรัฐบาลที่มีพรรค CPP นำใด ๆ ในกัมพูชา จะต้องทำผ่านบริษัทโซกีเม็กซ์ (Sokimex) ของคนเชื้อสายเวียดนาม ที่ใกล้ชิดกับฮุนเซน ปัญหาในอนาคตคือการครอบงำและการคอรัปชั่น
3.) ขณะที่ประเด็นสำคัญที่ผมจะนำข้อมูลมานำเสนอคือกัมพูชายังตกลงในการแบ่งสรรผลประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจทางทะเล ที่ทับซ้อนกับไทยไม่ได้นี่คือชนวนสำคัญที่อนาคตหากเคลียร์ประเด็นเรื่องทับซ้อนไม่ได้ ก็อาจจะเกิดสงครามแย่งน้ำมันก็ได้ ประกอบกับฐานะภาพทางการเมืองของไทยยังไม่สามารถต่อรองผลประโยชน์กับกัมพูชาได้ เมื่อเทียบกับประเทศมหาอำนาจที่แห่ให้การสนับสนุนประเทศกัมพูชาอย่างไม่ลืมหูลืมตา
ทั้งนี้คนวงในอุตสาหกรรมการสำรวจขุดเจาะในกัมพูชากล่าวว่า ความจริงแล้วแหล่งที่คาดว่าจะมีก๊าซและน้ำมันดิบมากที่สุดก็คือ เขตเหลื่อมล้ำทางทะเลในอ่าวไทยที่กัมพูชายังมีข้อพิพาทกับไทย
กระทั่งล่าสุด Dr Abdullah Al Madani นักวิจัยและอาจารย์สอนวิชาเอเชียศึกษาที่มีชื่อเสียงแห่งคูเวต ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ในบทความชิ้นหนึ่งที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กัล์ฟนิวส์ ได้ออกเตือนว่ากรณีพิพาทดินแดนระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ที่สุดนี้ อาจจะปะทุรุนแรงขึ้นได้เมื่อมีอุตสาหกรรมน้ำมันในกัมพูชาพัฒนาไปอย่างจริงจัง และ กัมพูชา ควรจะพยายามให้มากขึ้นในการเจรจาแบ่งปันเขตแดนทางทะเลกับไทยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
นักวิชาการในตะวันออกกลางได้แสดงความวิตกว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ไทย - กัมพูชา อาจจะมีความขัดแย้งจนถึงขั้นเปิดสงครามย่อยๆ ขึ้นได้ ในยุคที่เริ่มมีการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันในกัมพูชา และเส้นแบ่งพรมแดนในเขตอ่าวไทยยังไม่ชัดเจน พร้อมทั้งแนะนำให้ทั้งสองประเทศรีบเจรจาหาทางปักปันเขตแดนทางทะเลให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ทั้งนี้ ในภาพรวมประเด็นเรื่องความซับซ้อนของเขตแดนทางทะเลในอ่าวไทยบริเวณนี้มี 4 ประเทศที่เกี่ยวข้องกัน คือ ไทย เขมร มาเลเซีย และเวียดนาม ทับกันไปทับกันมา
แต่สำหรับ พื้นที่ไหล่ทวีปทับซ้อนระหว่างราชอาณาจักรไทย กับราชอาณาจักรกัมพูชา หรือ Joint Development Area : JDA อันเป็นปมปัญหาให้ต้องเจรจากันดังกล่าวนี้มีพื้นที่ประมาณ 25,789 ตารางกิโลเมตร อันเป็นแหล่งที่คาดว่าจะมีทรัพยากรก๊าซธรรมชาติและน้ำมันที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแหล่งหนึ่งในเอเชียอาคเนย์ในอนาคต
สำหรับความเป็นมาก่อนหน้านี้ อดีตรัฐบาลที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สามารถบรรลุข้อตกลงในการเจรจาปัญหาเขตทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา ด้วยการมีบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ยังผลให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา ประชุมกันครั้งแรกเมื่อ เดือนธันวาคม 2544 และมีการกันพื้นที่ในการเจรจาออกเป็น 2 ส่วน คือ
1. พื้นที่ทับซ้อนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือขึ้นไป ให้แบ่งเขตทางทะเลอย่างชัดเจนตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ใช้บังคับ
2.พื้นที่ทับซ้อนใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือลงมา ให้พัฒนาพื้นที่ดังกล่าวร่วมกัน
กระทั่งการเดินทางไปราชอาณาจักรกัมพูชาของอดีตนายกฯ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2549 ได้มีกระบวนการเร่งรัดให้การเจรจาปักปันเขตแดนทางทะเลให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพียงเพื่อหวังให้มีการเจรจาเปิดสัมปทานขุดเจาะก๊าซและน้ำมันในพื้นที่พัฒนาร่วม หรือ JDA เป็นหลัก
ปรากฎว่าการเจราจาเรื่องประโยชน์ในการสำรวจและขุดเจาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (JDA)ระหว่าง 2 ประเทศ ไม่สามารถตกลงกันได้
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสมัยนั้นแถลงว่า "ตามข้อเสนอเดิมจะแบ่งพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชาเป็น 3 เขต โดยพื้นที่ในส่วนที่อยู่ตรงกลางจะแบ่งผลประโยชน์ที่ได้จากขุดเจาะปิโตรเลียม 50:50ซึ่งไม่มีปัญหาอะไร ส่วนพื้นที่อีกสองเขตทางด้านซ้ายและด้านขวา จะให้มีสัดส่วนการแบ่งผลประโยชน์ที่ต่างออกไป คือ ทางกัมพูชาเสนอให้แบ่งผลประโยชน์ 90:10 ขณะที่ไทยเสนอว่าควรแบ่งผลประโยชน์ 60:40"
โดยแถลงต่อว่า อดีตนายกฯ ระบุในที่ประชุมว่า จะพยายามเจรจากับนายกฯ ฮุนเซน เพื่อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ในการสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลดังกล่าวให้เร็วที่สุด เพื่อให้เพียงพอกับการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศ ขณะที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หากทั้งสองบรรลุข้อตกลงแล้ว ทางฝ่ายไทยจะให้บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เข้าไปสำรวจและขุดเจาะหาก๊าซธรรมชาติทันที
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายไทยเตรียมเสนอปล่อยเงินกู้ที่มีเงื่อนไขผูกพันวงเงิน 1.3 พันล้านบาท ให้กับกัมพูชา สำหรับสร้างถนนในกัมพูชาสายสะงำ-อลองเวง-เสียมราฐ ซึ่งรักษาการนายกฯ ระบุว่า การปล่อยกู้ดังกล่าวจะช่วยสร้างประโยชน์ให้ไทยในด้านการท่องเที่ยว เพราะเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางไปสู่ "นครวัด"แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของกัมพูชา และยังสนับสนุนสนามบินสุวรรณภูมิทางอ้อมด้วย
นอกจากนี้ ทางฝ่ายกัมพูชายังเสนอซื้อพลังงานไฟฟ้าจากประเทศไทยสำหรับใช้ในประเทศ ซึ่งการเจรจาของทั้งสองฝ่ายจะหยิบยกเรื่องนี้มาหารือ ขณะที่ในประเด็นอื่นนั้นๆ ทางฝ่ายไทยและกัมพูชาจะตกลงเรื่องเขตแบ่งแดนบนบกให้มีความชัดเจน
"การที่ไทยจะให้ความช่วยเหลือโดยเสนอปล่อยเงินกู้ สร้างถนนหมายเลข 67 วงเงิน 1.3 พันล้านบาท การขายกระแสไฟฟ้าให้กับกัมพูชา รวมทั้งการปักเสาไฟฟ้าไปยังเขตกัมพูชาน่าจะเป็นข้อแลกเปลี่ยนที่จะช่วยโน้มน้าวกัมพูชา ที่จะทำให้การเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลของสองประเทศสำเร็จได้" นั่นคือข้อสรุปการเจรจาล่าสุดในรัฐบาลที่แล้ว
แต่ปัญหานี้กำลังรอประทุขึ้นมาหากมีการประกาศเรื่องผลประโยชน์ที่จะมีขึ้นของประเทศกัมพูชาในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะยังมีขุมทรัพย์ในแปลง B ที่อยู่ห่างจากชายฝั่งกัมพูชา 250 กม.ไปทางตะวันออก ติดกับเขตน่านน้ำไทยในอ่าวไทย โดยแปลงสำรวจขุดเจาะที่ว่านี้ ทอดไปทางตะวันออกเฉียงใต้ทางแนวน่านน้ำของกัมพูชา ซึ่งเป็นแหล่งที่มีศักยภาพในปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสูง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 6,551 ตารางกิโลเมตร คาดว่ามีน้ำมันและก๊าซอยู่หลายร้อยล้านบาร์เรล
ซึ่งเมื่อกลางปี 2548 ทางกัมพูชาได้ลงนามในสัญญาสำรวจขุดเจาะหาแก๊สและน้ำมันดิบในแปลง B กับกลุ่มบริษัทไทย สิงคโปร์และมาเลเซียที่ถือหุ้นกันฝ่ายละ 30% กับบริษัทน้ำมันจากออสเตรเลียอีกหนึ่งแห่งที่มีผลประโยชน์ร่วมอยู่ด้วย 10% คาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิตน้ำมันดิบแหละก๊าซที่หลุม B ได้ใน 3 ปี
ย้อนประวัติศาสตร์ความขัดแย้งไทย - กัมพูชา
เมื่อมองย้อนประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชา ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันยาวถึงเกือบ 800 กิโลเมตร มีประเพณีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน มีการนับถือศาสนาพุทธเหมือนกัน พบว่าเราเป็นทั้งมิตรและศัตรูต่อกันอย่างยาวนาน
ในงานวิจัยของศาสตราจารย์เขียน ธีระวิทย์ และคุณสุณัย ผาสุข ในโครงการเมธีวิจัยอาวุโสเรื่องกัมพูชา ได้เขียนสรุปถึงความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและไทยไว้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและไทยมีพื้นฐานไม่ค่อยดีนัก โดยทั้ง 2 ฝ่ายมีทัศนคติที่ไม่ค่อยดีต่อกัน ความขัดแย้งในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาวนเวียนกลับไปกลับมาตลอดเวลาในเรื่องปัญหาเขตแดน และปัญหาความสัมพันธ์ที่ดีและไม่ดีของทั้ง 2 ประเทศมักจะเกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งภายในของกัมพูชาประกอบด้วยเสมอ
จากความสัมพันธ์ที่เป็นทั้งร่วมมือกันและขัดแย้งกันมาในอดีต ได้แปรเปลี่ยนไปสู่ความร่วมมือกันอย่างเป็นด้านหลักอย่างชัดเจนในยุคปัจจุบัน จากนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ทำให้นโยบายต่างประเทศของไทยเปลี่ยนไปอย่างมาก ความพยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจมีเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ มีความพยายามที่จะผลักดันให้ประเทศในคาบสมุทรอินโดจีนซึ่งประกอบด้วย เวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่า เข้าเป็นสมาชิกของอาเซียน(Association of Southeast Asian Nations: ASEAN) ซึ่งในขณะนั้นมีอยู่ 6 ประเทศ
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ลดปัญหาความไม่มีเสถียรภาพหรือความขัดแย้งทางการเมืองลง แต่สถานการณ์ความผันผวนทางการเมืองในกัมพูชาที่มีค่อนข้างมาก ทำผลให้กัมพูชาเป็นชาติสุดท้ายในภูมิภาคนี้ที่เข้าเป็นสมาชิกของอาเซียนโดยมีการรับกัมพูชาเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียน อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม 2542 นับเป็นประเทศที่ 10 ในอาเซียน
ความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทยและกัมพูชาเป็นไปในทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้นเป็นลำดับ มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ไทยได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ การพัฒนาการเกษตร การแพทย์และสาธารณสุขต่อกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง ความสัมพันธ์ทางการค้าโดยเฉพาะการค้าชายแดนขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สินค้าอุปโภคและบริโภคของไทยวางขายอยู่ในกัมพูชาอย่างมากมาย และขณะเดียวกันไทยก็มีการนำเข้าไม้ซุงและไม้แปรรูป หนังดิบและหนังฟอก รวมทั้งสินแร่โลหะ จากกัมพูชาเช่นกัน แต่โดยรวมแล้วไทยได้เปรียบดุลการค้ากับกัมพูชามาโดยตลอด จากประมาณปีละ 2 พันล้านบาท ในปี 2536 มาเป็น 2 หมื่นล้านบาท ในปี 2545
นักธุรกิจไทยจำนวนมากได้เข้าไปลงทุนในกัมพูชาในธุรกิจประเภทต่างๆ เช่น ธุรกิจโทรคมนาคม การแปรรูปไม้ โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจการท่องเที่ยวตลอดจนการลงทุนในกาสิโนตามแนวชายแดน นอกจากนี้ไทยยังเป็นแหล่งรองรับแรงงานจากกัมพูชา โดยมีชาวกัมพูชาเข้ามาทำงานทั้งที่มาเช้าเย็นกลับ และที่หลบเข้ามาอย่างผิดกฎหมายอีกจำนวนมากนับเป็นแสนคน
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้น มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจของกัมพูชาเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่ในบางกรณีก็อาจเกิดปัญหาที่ผลประโยชน์จากการค้า และการลงทุนเกือบทั้งหมดถูกเก็บเกี่ยวโดยโดยประเทศที่เข้มแข็งกว่าหรือนักธุรกิจที่เข็มแข็งกว่าได้เช่นเดียวกัน หรือในบางกรณีก็เกิดปัญหาการแสวงผลประโยชน์อย่างไม่ชอบธรรม
เมื่อปัญหาเหล่านี้ผสมกับความรู้สึกพื้นฐานลึกๆ ของความหวาดระแวงชาวต่างชาติหรือความรู้สึกต่อคนไทยในอดีตของประชาชนกัมพูชา และผสมผสานกับความขัดแย้งทางการเมืองภายใน จึงได้กลายเป็นความรุนแรงไปในที่สุด เหตุการณ์ครั้งนี้จึงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่จะเกิดขึ้น ถ้าเราไม่สามารถแก้ปมปัญหาทางทัศนคติที่ฝังอยู่ในคนทั้ง 2 ฝ่าย
ดังนั้นการลงทุนของนักลงทุนไทยจึงไม่ควรจะมุ่งแต่กำไรและกอบโกยผลประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ควรจะต้องดำเนินด้วยความเข้าใจในสังคมวัฒนธรรมของคนกัมพูชา การแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรม การส่งเสริมให้มีการตอบแทนทางสังคมและสร้างความเข้าใจที่ดีงามต่อกัน
ขณะเดียวกันก็เป็นห่วงกัมพูชาที่มีคนปรามาสไว้เช่นกันว่า ประเทศนี้จะมีทางรอดพ้นจาก "คำสาปน้ำมัน" (Oil Curse) ได้อย่างไร เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยบางประเทศ เช่น ไนจีเรีย ที่เข้าสู่ความยุ่งยากหลังการพบน้ำมันดิบมหาศาล แต่มีเงินเข้าคลังเพียงน้อยนิด มิหนำซ้ำยังเป็นหนี้หลายแสนล้านดอลลาร์ และจะมีการเปลี่ยนประเทศกัมพูชาที่ยากจนมานานหลายทศวรรษกลายเป็นประเทศที่เรียกว่า "เคลปโตเครซี่" (Cleptocracy) หรือประเทศที่ "ปกครองโดยพวกหัวขโมย"
ตามความหมายที่ไม่เป็นทางการนั้น คำๆ นี้หมายถึงระบอบที่มีรัฐบาลทุจริตคอร์รับชั่นในการบริหารจัดการเงินงบประมาณ แทนที่จะมุ่งนำไปพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้พ้นจากความยากจน แต่เงินงบประมาณถูกถ่ายเทเข้ากระเป๋าหรือบัญชีเงินฝาก เพื่อความร่ำรวยส่วนตัวของผู้นำ นักการเมืองและกลุ่มที่มีพลังทางการเมืองทั้งหลาย...
ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
โดย อาคม
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น