วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ลอยแพพยาบาล ละเลยหรือเจตนาสร้างระบบการรักษาสองมาตรฐาน

พยาบาลวิชาชีพ บุคลากรสำคัญหลายหมื่นชีวิตทั่วประเทศที่รัฐบาล, กระทรวงสาธารณสุข และกพ.ไม่ให้การเหลียวแล (ภาพประกอบจากไทยรัฐออนไลน์)
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ลอยแพพยาบาล ละเลยหรือเจตนาสร้างระบบการรักษาสองมาตรฐาน, 

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - หมอชนบทกระทุ้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้หันมาแก้ไขปัญหากลุ่มพยาบาลวิชาชีพ เภสัชกร ลูกจ้างชั่วคราวใน รพ.ชุมชนทั่วประเทศหลายหมื่นคนที่ถูกละเลยไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ กระทั่งเกิดภาวะสมองไหลสู่ รพ.เอกชนราวกับรัฐบาล-สธ.-ก.พ.สมคบคิดสร้างระบบการรักษาสองมาตรฐาน คนจนหมดสิทธิ์เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพแต่ราคาแพง จวกรัฐบาลดีแต่โม้ทำเพื่อพี่น้องรากหญ้าแต่กลับตัดงบระบบประกันสุขภาพลงถึง 5 หมื่นล้าน
       
       นพ.พรเทพ โชติชัยสุวัฒน ชมรมแพทย์ชนบท นักศึกษาปริญญาโท สถาบันเวชศาสตร์เขตร้อน เมืองอันเวิร์ป ประเทศเบลเยียม เขียนบทความที่เปิดเผยถึงความไม่เป็นธรรมในระบบการบรรจุข้าราชการในสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลน ดังเช่น กลุ่มพยาบาลวิชาชีพ เภสัชกร ลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่ประเทศไทยมีข้อตกลงกับไอเอ็มเอฟเมื่อคราวเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง
       
       ปัญหานี้ถูกละเลยมานานกระทั่งกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต เมื่อคนเหล่านี้ซึ่งมีจำนวนหลายหมื่นคนทั่วประเทศถูกละเลย ทอดทิ้ง จนมีการลาออกไปอยู่กับโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามแรงดึงดูดคนจากภาครัฐเพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน และก้าวสู่การเป็น “เมดิคัลฮับ” ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนเต็มที่ ซึ่งนั่นหมายถึงผลกระทบต่อคนยากจนในชนบทที่เข้าไม่ถึงบริการที่มีคุณภาพแต่ราคาแพงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
       
       ข้อเขียนของ นพ.พรเทพบรรยายว่า จากข่าวที่กลุ่มพยาบาลวิชาชีพ ลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุขมาชุมนุมเพื่อร้องขอความเป็นธรรมให้เร่งบรรจุตำแหน่งข้าราชการให้แก่ลูกจ้างใน รพ.ชุมชนทั่วประเทศต่อกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเคยร้องเรียนผ่านหลายหน่วยงานแต่ไม่เป็นผล ซึ่งหากยังไม่คืบหน้าอาจมีการนัดชุมนุมใหญ่ทั่วประเทศต่อไป
       
       ปัญหาที่เกิดขึ้นเรื้อรังมาจากผลพวงวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 เมื่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เข้ามาประเมินระบบราชการไทยในฐานะเจ้าหนี้ พบว่าระบบมีจำนวนข้าราชการมากเกินไป จึงมีการจำกัดการบรรจุข้าราชการแบบเหมารวม ขาดวิจารณญาณในการแยกแยะว่าส่วนใดที่เกินแล้ว ส่วนใดที่ยังขาดอยู่
       
       ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงถูกผลกระทบอย่างรุนแรง ทำให้ไม่สามารถบรรจุ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร ต้องหันมาใช้คำว่าพนักงานราชการแทน จนต่อมาเริ่มมีตำแหน่งมากขึ้นแต่ก็เพียงพอแค่การบรรจุแพทย์ และทันตแพทย์เท่านั้น ส่วนพยาบาล, เภสัชกร และเจ้าหน้าที่ประเภทอื่นๆ ได้บรรจุเพียงเล็กน้อยจากการรอตำแหน่งว่างจากผู้เกษียณเท่านั้น
       
       จากข้อมูลของสภาการพยาบาล ในการเปรียบเทียบระหว่างโรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ในระหว่างปี 2549-2553 จำนวนพยาบาลวิชาชีพทำงานเต็มเวลาในโรงพยาบาลเอกชน เพิ่มจาก 11,000 คน เป็น 15,000 คน เป็นการเพิ่มถึงร้อยละ 36.36 ในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งการเข้าสู่งานในภาคเอกชนของพยาบาลวิชาชีพปีละประมาณ 1,000 คน
       
       สภาการพยาบาลคาดว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าภาคเอกชนจะต้องการพยาบาลถึง 20,000 คน เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ต้องการได้รับการรับรองคุณภาพจาก JCI ที่กำหนดให้มีการจัดอัตรากำลังพยาบาลเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยตามมาตรฐานบริการพยาบาลสากล ซึ่งมาตรฐานอัตรากำลังของพยาบาลไทยต่ำกว่าที่กำหนดของมาตรฐานวิชาชีพอยู่ถึงร้อยละ 30 
       
       ในทางตรงกันข้าม กระทรวงสาธารณสุขปัจจุบันมีพยาบาลที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวประมาณ 18,000 คน และยังขาดแคลนทั่วประเทศอยู่อีกประมาณ 33,112 คน ซึ่งการขาดแคลนก็จะทำให้ผู้ที่อยู่ในระบบต้องทำงานหนักขึ้น เสี่ยงต่อความผิดพลาด ไม่ปลอดภัยต่อผู้ป่วย
       
       การที่พยาบาลถูกละเลยไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ ทำให้มีการลาออกไปสู่ภาคเอกชน โรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเขตเมืองมากขึ้น หรือออกไปทำงานต่างประเทศมากขึ้นหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economy Community : AEC) ในปี พ.ศ. 2558 ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งมีการปรับตัวอย่างไร้ทิศทางเพื่อให้สามารถดึงดูดให้พยาบาลเข้ามาทำงาน และรักษาคนไว้ในระบบ โดยเฉพาะการเพิ่มอัตราเงินเดือน และค่าตอบแทนต่างๆ ในโรงพยาบาลในเมืองให้ทัดเทียมภาคเอกชน ทำให้ขาดแรงจูงใจที่คนจะไปทำงานในเขตชนบทเพราะค่าตอบแทนที่ต่ำกว่า 
       
       ซึ่งหากปล่อยให้การแข่งขันในกลไกตลาดแรงงานดำเนินต่อไป อาจทำให้เกิดการบริการสองมาตรฐานระหว่างภาครัฐ และเอกชน ที่ภาครัฐไม่แสดงภาวะผู้นำ ความรู้ความสามารถในการแทรกแซงแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม ก็จะทำให้สถานบริการของกระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถจัดบริการได้ตามมาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพของประชาชนไทยที่ฐานะยากจน ไม่มีกำลังจ่าย โดยเฉพาะในเขตชนบทที่ห่างไกล
       
       แต่เป็นที่น่าผิดหวังอย่างมาก เมื่อรัฐบาลชุดปัจจุบัน มุ่งให้ความสนใจแต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การพัฒนาเมดิคัลฮับ (medical hub) และการทำโครงการที่เพิ่มค่าใช้จ่ายภาครัฐโดยไม่จำเป็น เช่น โครงการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในราคาที่สูงเกินไป หนำซ้ำยังตัดงบประมาณรายจ่ายสำหรับการประกันสุขภาพในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ลงจากเดิม 5 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท
       
       จากความเรื้อรังของปัญหาดังกล่าวนั้น ราวกับว่ารัฐบาล, ก.พ. และกระทรวงสาธารณสุขสมรู้ร่วมคิด ยินยอมพร้อมใจไปด้วย หรือไม่ก็เกิดจากการปล่อยปละละเลยของทั้งฝ่ายการเมือง และข้าราชการประจำ คือ ก.พ. และความมุ่งมั่นที่ไม่เพียงพอของผู้นำกระทรวงสาธารณสุข ผลร้ายย่อมตกแก่พี่น้องประชาชนที่มีรายได้น้อย ซึ่งไม่สามารถไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนได้
       
       ดังนั้น เพื่อแสดงความจริงใจ และศักยภาพของรัฐบาลที่นำโดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข ควรเร่งรัดแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเหมาะสม เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชน
        
       โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีรายได้น้อย และอาศัยในเขตชนบทได้มีโอกาสเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพจากสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุข ตามที่พรรคเพื่อไทยได้กล่าวอ้างในการหาเสียงเลือกตั้งมาโดยตลอด โดยการแสดงภาวะผู้นำและความรู้ความสามารถในการแก้ไขปัญหาการคงอยู่และกระจายของพยาบาลวิชาชีพในสถานบริการระดับต่างๆของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นระบบ เป็นธรรม สร้างสรรค์ เป็นที่ยอมรับอย่างเร่งด่วนต่อไป...


ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th : 18 มิถุนายน 2555 21:44 น.


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น