วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ฮุนเซน ดึงมหาอำนาจช่วยฮุบแหล่งน้ำมัน


ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา เดินทางไปเยือนประเทศฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งก็ได้ยังผลให้ความสัม พันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ดูจะชื่นมื่นมากยิ่งขึ้น เมื่อปรากฏว่า ฮุน เซน ได้ไปตกลงให้บรรษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของฝรั่งเศส ก็คือกลุ่มบริษัท TOTAL นั้นให้เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่มีสิทธิสัมปทานในการสำรวจขุดค้นน้ำมันและแก๊สธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับเขตทับซ้อนทางทะเลกับไทยอยู่ในทุกวันนี้
   เพราะฉะนั้นในเมื่อว่าการเจรจาระหว่างทางการไทยกับกัมพูชาเกี่ยวกับปัญหา เขตทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทยก็ยังคงไม่มีความคืบหน้าอะไรเกิดขึ้นเลย หากแต่กลับปรากฏว่า ฮุน เซน ได้ไปตกลงกับฝรั่งเศสแล้วเช่นนี้ก็ยิ่งจะทำให้ปัญหาดังกล่าวนี้มีความยุ่งเหยิงมากขึ้น เนื่องจากว่าก่อนหน้านี้ ฮุน เซน ก็ยังได้ดึงเอาบรรษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานเข้าไปแล้วหลายราย
   โดยเริ่มจากยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานอย่าง Chevron Corp จากสหรัฐอเมริกา ซึ่ง ฮุน เซน ได้กำชับให้กลุ่มบริษัทนี้ เร่งสรุปผลการดำเนินการสำรวจหาน้ำมันและแก๊สธรรมชาติในเขตที่ต่อเนื่องกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับไทยนั้น เพื่อที่ว่าจะเริ่มดำเนินการขุดค้นน้ำมันและแก๊สขึ้นมาใช้ประโยชน์ให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งถ้าหากจะพิจารณาจากความต้องการของ ฮุน เซน แล้ว ก็คือการวางเป้าหมายที่จะขุดค้นน้ำมันและแก๊สธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ให้ได้ภายในปี 2554
   พร้อมกันนั้น ฮุน เซน ก็ยังได้สั่งการให้การปิโตรเลียมแห่งชาติ ที่เป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลกัมพูชานั้นให้เร่งดำเนินการจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเพื่อให้เป็นบริษัทที่ ร่วมทุนกับ Chevron Corp ในการขุดค้นน้ำมันและแก๊สเป็นการเฉพาะอีกด้วย
   ส่วนในอีกด้านหนึ่งนั้น ฮุน เซน ก็ยังได้สั่งการให้รัฐวิสาหกิจปิโตรเลียมแห่งชาติเร่งเซ็นสัญญากับกลุ่ม TOYO Engineering จากญี่ปุ่นเพื่อให้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกในกัมพูชาด้วยหวังว่าจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้กลุ่ม TOYO ตัดสินใจลงทุนในด้านดังกล่าวในระยะต่อไป


ทั้งนี้โดย ฮุน เซน ได้ให้คำมั่นว่ารัฐบาลของเขาจะเร่งทำการร่างกฎหมายน้ำมันและแก๊สธรรมชาติเพื่อให้สภาแห่งชาติเขมรให้การรับรองและประกาศบังคับใช้ในเร็วๆวันนี้อีกด้วย
   ส่วนทางด้าน Chevron Corp นั้น ก็ยังได้ร่วมทุนกับกลุ่ม Mitsui จากญี่ปุ่นและกลุ่ม GS Caltex จากเกาหลีใต้เพื่อดำเนินการสำรวจหาแหล่งน้ำมัน และแก๊สธรรมชาติในเขตน่านน้ำของกัมพูชานับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมาแล้วนั้น และถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้สรุปผลการ สำรวจในระยะที่ผ่านมาอย่างชัดเจนก็ตาม หากแต่Chevron Corp ก็ได้ให้การตอบสนองต่อเป้าหมายของ ฮุน เซน เป็นอย่างดี
   ซึ่งก็คือ Chevron Corp ได้ให้การยืนยันกับ ฮุน เซน อย่างชัดเจนแล้วว่าการจัด ทำรายงานสรุปผลการสำรวจฯทั้งหมดนั้นจะถูกนำเสนอต่อรัฐบาล ฮุน เซน ใน ปลายปีนี้อย่างแน่นอน
   โดยกลุ่ม Chevron Corp พร้อมด้วยกลุ่ม Mitsui และกลุ่ม GS Caltex ร่วมทุนกันในสัดส่วน 55% ต่อ 30% และ 15% ตามลำดับ และก็ได้ทำการขุดเจาะสำรวจหาน้ำมันในเขตสัมปทาน A ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลเขตจังหวัดสีหนุวิลล์ในภาคใต้ของกัมพูชาประมาณ 150 กิโลเมตรนั้นพบว่า 4 ใน 15 หลุมที่ดำเนินการสำรวจนั้นเป็นแหล่งน้ำมันและแก๊สฯที่คุ้มค่าที่จะลงทุนอย่างยิ่ง
   ซึ่งด้วยผลจากการสำรวจฯดังกล่าว ก็ปรากฏว่ามีบริษัทต่างชาติอีกกว่า 10 รายที่ได้หลั่งไหลเข้าไปขออนุญาตสัมปทานเพื่อสำรวจหาน้ำมันและแก๊สธรรมชาติในเขตอ่าวไทยในส่วนที่รัฐบาลกัมพูชาถือว่าเป็นเขตน่านน้ำของฝ่ายตนนั้นแล้ว โดยในที่นี้ก็ยังรวมถึงบริษัทในเครือของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยและยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานจากจีนด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งธนาคารโลก และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังได้แสดงการเชื่อมั่นต่อที่ประชุมสมัชชาว่าด้วยการลงทุนขุดค้นน้ำมันและแก๊สฯในเอเชียที่สิงคโปร์ เมื่อไม่นานมานี้ ว่าน้ำมันและแก๊สฯในกัมพูชาและเขตทับซ้อนทางทะเลกับไทยด้วยนั้นมีปริมาณน้ำมันสำรองมากถึง 2,000 ล้านบาร์เรลและก็มีปริมาณแก๊สฯสำรองอีกมากกว่า 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มากกว่า 5 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว
   พร้อมกันนั้น IMF ก็ยังได้ประมาณการด้วยว่าหากมีการขุดค้นน้ำมันและแก๊สฯเหล่านี้ขึ้นมาใช้ประโยชน์เมื่อไร ก็จะทำให้รัฐบาลกัมพูชามีรายรับมากกว่า 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2554 และจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2564 ถ้าหากมีโรงกลั่นน้ำมันในกัมพูชาด้วย
   แต่อย่างไรก็ตาม กรณีที่นับเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการตัดสินใจลงทุนขุดค้นของกลุ่มบริษัทต่างๆ ในเวลานี้ก็คือการที่ทางการไทยและกัมพูชายังไม่สามารถตกลงกันได้เลยในส่วนที่เกี่ยวกับการแบ่งปันผลประโยชน์จากน้ำมัน และแก๊สฯในเขตทับซ้อนทางทะเลที่กว้างกว่า 27,000 ตารางกิโลเมตรดังกล่าว
   ซึ่งถ้าหากจะว่าไปแล้วทางการไทยกับกัมพูชาก็เคยตกลงในหลักการร่วมกันมา แล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2549 โดยได้ตกลงแบ่งเขตทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทยออกเป็น 3 ส่วนเท่าๆกัน โดยส่วนที่อยู่ตรงกึ่งกลางนั้นก็ให้แบ่งผลประโยชน์กันในสัดส่วน 50 ต่อ 50
   ส่วนเขตทับซ้อนที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลของไทยนั้นก็ได้ตกลงให้แบ่งผลประโยชน์ให้กับฝ่ายไทยมากกว่าฝ่ายกัมพูชา ซึ่งก็เช่นเดียวกันกับเขตทับซ้อนฯ ที่อยู่ใกล้ฝั่งทะเลของกัมพูชา ก็ให้แบ่งผลประโยชน์ให้กับฝ่ายกัมพูชามากกว่าฝ่ายไทย
   แต่ถึงกระนั้น ทั้งสองฝ่ายก็ยังตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับสัดส่วนของการแบ่งผลประโยชน์กล่าวคือฝ่ายไทยเสนอให้แบ่งผลประโยชน์เป็น 60 ต่อ 40 แต่ฝ่ายกัมพูชากลับต้องการให้แบ่งผลประโยชน์เป็น 90 ต่อ 10 เพราะฝ่ายกัมพูชาเชื่อว่าเขตทับซ้อนฯที่อยู่ใกล้ฝั่งกัมพูชานั้นมีปริมาณน้ำมันและแก๊สฯ มากกว่าในเขตทับซ้อนที่อยู่ใกล้ฝั่งไทยนั่นเอง
   ยิ่งไปกว่านั้น นับจากที่ไทยกับกัมพูชาขัดแย้งกันในพื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโล เมตรในเขตปราสาทพระวิหาร ตั้งแต่กลางปี 2551 เป็นต้นมาจนถึงขั้นที่ต้องยิงปะทะกันด้วยอาวุธมาแล้ว 2 ครั้ง คือเมื่อปลายปีที่แล้วและในต้นปีนี้ด้วยแล้วก็ยังทำให้ไม่มีการเจรจาเกี่ยวกับน้ำมันและแก๊สฯในเขตทับซ้อนทางทะเลเกิดขึ้นเลย เพราะถูกปัญหาในเขตปราสาทพระวิหารบดบังไปอย่างสิ้นเชิง


แต่ในเมื่อว่า ฮุน เซน ได้ดึงเอาบรรษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานทั้งหลายจากประเทศมหาอำนาจให้เข้ามาถือสิทธิสัมปทานในแหล่งน้ำ มันและแก๊สฯ ในเขตทับซ้อนทางทะเลมากขึ้นเช่นนี้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างชนิดที่ว่าไม่ต้องกระพริบตากันเลย เพราะในโลกของผลประโยชน์นั้นก็ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ประเทศใหญ่มักจะเอาเปรียบประเทศเล็กอยู่แล้ว และที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ก็คือประ เทศเล็กๆอย่างกัมพูชากลับได้พยายามแสวงหาในสิ่งนี้มาโดยตลอดเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีข้อขัดแย้งกับเพื่อนบ้าน!!!


ขอขอบคุณที่มา เว็บบล็อก OKnation - ทรงฤทธิ์ โพนเงิน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น