วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เรื่องนี้ไม่ถึงสรยุทธแน่...

                          
ภาพที่ 1 แสดงตารางผลกำไรสุทธิของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หลังการแปรรูป 10 ปี
       ผลกำไรสุทธิอันมหาศาลกับ ปตท.นับตั้งแต่การแปรรูปตลอดระยะเวลา 10 ปี รวมทั้งสิ้น 774,167 ล้านบาท (ตามภาพที่ 1)

“ปตท. จึงต้องแสวงหาพลังงานให้พอเพียง และลงทุนอีกมหาศาลกับพลังงานใหม่ๆเพื่ออนาคตของคนไทยทุกคน” 
       
        นี่เป็นข้ออ้างในปีนี้ที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พยายามออกโฆษณาให้เหตุผลว่าทำไม ปตท.ต้องมีกำไรอย่างมหาศาล บนความรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจของประชาชนทุกหย่อมหญ้ากับราคาสินค้าที่มีราคาแพงสูงขึ้นมากจากราคาน้ำมัน
       
        เพราะความลับไม่มีในโลกได้ตลอดกาล เมื่อข้อมูลได้ปรากฏความจริงว่า ปตท. ได้กำไรเกินสมควรมาเป็นเวลาหลายปีติดต่อกันแล้ว ภายหลังจากการแปรรูปเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ได้แต่มุ่งแสวงหาผลกำไรสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ






ผลกำไรสุทธิอันมหาศาลกับ ปตท.นับตั้งแต่การแปรรูปตลอดระยะเวลา 10 ปี รวมทั้งสิ้น 774,167 ล้านบาท (ตามภาพที่ 1)
      
       คิดแล้ว ปตท. กำไรสุทธิที่ได้ จะต้องแบ่งคืนให้กับผู้ลงทุนเอกชน (ไม่ว่าจะเป็นในรูปการปันผลหรือกลับมาลงทุนทรัพย์สินเพื่อเพิ่มมูลค่าหุ้น) รวมทั้งสิ้น 10 ปีไม่ต่ำกว่า 296,000 ล้านบาท ทั้งๆ ที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เงินจากการระดมทุนและเพิ่มทุนเพียงไม่ถึง 28,277 ล้านบาท

       
        หมายความว่าการได้เงินลงทุนทั้งหมด 28,277 ล้านบาท ที่รัฐบาลทักษิณอ้างว่ามีความจำเป็น เพื่อไม่ต้องการสร้างหนี้สาธารณะนั้น เรากลับต้องจ่ายเฉพาะอัตราผลตอบแทนคืนให้กับเงินลงทุนเหล่านี้ในอัตราเกือบ 23% ในปีแรกๆ และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
       
       จนมาถึงปี 2554 ต้องจ่ายอัตราผลตอบแทนคืนให้กับผู้ถือหุ้นเอกชน 49% สูงถึง 61,361 ล้านบาท หรือคิดเป็นเกือบ 120% เงินลงทุนของผู้ถือหุ้นเอกชน 28,277 ล้านบาท
       
        เงิน 28,277 ล้านบาท ที่ได้มาจากการกระจายหุ้น แลเพิ่มทุนของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แต่กำไรสุทธิตลอด 10 ปี ที่เงินลงทุนเหล่านี้ได้ไปคือ 296,000 ล้านบาท และเงินผลตอบแทนเช่นนี้จะยังเพิ่มขึ้นอย่างไร้ขีดจำกัดและเป็นอมตะต่อไปอย่างไม่มีกำหนดระยะเวลา
       
        ถือเป็นการขายทรัพย์สินของชาติในราคาที่ไม่มีความเป็นธรรมอย่างยิ่ง และเหตุผลที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ “โง่” หรือไม่ก็ “ฉ้อฉล” เช่นนี้ได้ ก็เพราะ…
      
        1. มีการขายหุ้นทรัพย์สินของชาติในราคาถูกๆ ที่ไม่สะท้อนความเป็นจริง และ
      
       2. มีการทำกำไรอย่างมหาศาลด้วยการขึ้นราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขูดรีดขูดเนื้อเอากับประชาชนเพื่อให้กำไรตกอยู่กับผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ
      
        ตัวอย่างแรกก็คือ ก่อนการแปรรูป ปตท. ได้มีการประเมินมูลค่าทางบัญชี (Book Value) ท่อก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ผูกขาดและสร้างมาจากภาษีอากรของประชาชนชาวไทย และการค้ำประกันจากรัฐบาลเพื่อการแปรรูปไว้ที่ 46,189 ล้านบาท โดยคิดฐานมาจากอายุการใช้งานเพียง 25 ปี แต่ในความเป็นจริงอายุการใช้งานมากกว่าถึง 50 ปี ภายหลังต่อมาหลังจาก ปตท. ได้แปรรูปไปแล้วมีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา 2 แห่งประเมินทรัพย์สินท่อก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Economic Value) ถึง 105,000 -120,000 ล้านบาท และ ปตท. ก็นำเอาข้ออ้างการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของท่อก๊าซเช่นนี้มาคำนวณคิดค่าไฟฟ้าขูดเลือดเนื้อเอากับประชาชนตาดำๆจริงหรือไม่? 

     
                                           
ภาพที่ 2 แสดงราคาตลาดล่วงหน้าก๊าซธรรมชาติที่นิวยอร์ก ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
       ปตท. มักจะอ้างตลาดโลกที่ผ่านมาว่ามีความจำเป็นต้องขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติตามตลาดโลก แต่ผลสำรวจความจริงที่ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้เชี่ยวชาญในการติดตามด้านพลังงานกลับพบว่าราคาก๊าซธรรมชาติทยอยลดราคาลงมาเรื่อยๆ แต่ประเทศไทยกับราคาก๊าซยังขึ้นส่วนทางอย่างต่อเนื่อง (ตามภาพที่ 2) 
       
    แม้ในเวลาต่อมาศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 ให้ ปตท. ส่งคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่รัฐ (ตามคำฟ้องของมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค) โดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้เคยประเมินมูลค่าระบบท่อก๊าซเพื่อเรียกคืนตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด 53,393 ล้านบาท แต่ ปตท. ก็ได้ส่งคืนเพียงแค่ 16,176 ล้านบาท
       
        ผลประโยชน์ทับซ้อนที่ลามไปถึงฝ่ายการเมือง ทำให้กระทรวงการคลังได้ประเมินค่าเช่าท่อก๊าซและอุปกรณ์ของ ปตท. ระหว่างปี พ.ศ. 2544 จนถึง พ.ศ. 2551 คิดเป็นเงิน 1,300 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ ปตท. ได้เรียกเก็บค่าใช้ท่อก๊าซจากประชาชนไปแล้วถึง 137,176 ล้านบาท ซึ่งมีส่วนต่างจากที่กระทรวงการคลังเรียกเก็บถึง 104.52%
       
        เมื่อเทียบต้นทุนก๊าซที่ ปตท.สผ. (บริษัทลูกของ ปตท.) ซึ่งซื้อก๊าซธรรมชาติจากปากหลุมในอ่าวไทยราคาลูบบาศก์ฟุตละ 10.25 สตางค์ ในขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติจากปากหลุมประเทศพม่าอยู่ที่ 16.05 สตางค์ จึงย่อมเกิดคำถามว่า ปตท.สผ.ได้ราคาต้นทุนถูกเกินจริง (ซึ่งทำให้จ่ายค่าภาคหลวงต่ำเกินจริง) แล้วมาขายราคาเกินจริงให้กับประชาชนหรือไม่?
   ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น เมื่อ ผศ.ประสาท มีแต้ม นักวิชาการที่ติดตามเรื่องพลังงานอย่างต่อเนื่องกลับพบความผิดปกติด้านราคาอย่างน่าสนใจยิ่ง
       
                                       
ภาพที่ 3 แสดงกราฟแสดงให้เห็นว่า ปตท.ขายก๊าซให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแพงกว่าเอกชนรายอื่น
       ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น เมื่อ ผศ.ประสาท มีแต้ม นักวิชาการที่ติดตามเรื่องพลังงานอย่างต่อเนื่องกลับพบความผิดปกติด้านราคาอย่างน่าสนใจยิ่ง
       ในปี 2554 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซื้อราคาก๊าซจาก ปตท. แพงกว่าราคาก๊าซที่สหรัฐอเมริกาประมาณ 70 บาท/ล้านบีทียู หรือคิดเป็นส่วนต่างประมาณ 2.52 บาท/กิโลกรัม)
       ปี 2554 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซื้อราคาก๊าซจาก ปตท. แพงกว่าราคาก๊าซที่เอกชนรายอื่นในประเทศไทยซื้อประมาณ 30 บาท/ล้านบีทียู หรือคิดเป็นส่วนต่างประมาณ 1.08 บาท/กิโลกรัม) 

       
       เมื่อก๊าซ 1 ล้านบีทียู ผลิตไฟฟ้าได้ 120 หน่วย ต้นทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจึงแพงกว่าเอกชน 0.25 บาท/หน่วย เมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยผลิตได้ 50,195 ล้านหน่วย
       
       แปลความสรุปได้ว่าปี 2554 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยใช้ต้นทุนจาก ปตท. แพงไป 12,500 ล้านบาท!!!
      
       ภาระของ ปตท. ที่ขายไฟให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แพงกว่าประชาชนนั้น แท้ที่จริงภาระเหล่านั้นมาตกอยู่ที่ประชาชนในรูปของค่าไฟฟ้าที่ใช้ในครัวเรือนนั่นเอง

       
       สถานการณ์นับวันยิ่งหนักข้อขึ้นทุกวัน โดยเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2555 ที่ตลาดนิวยอร์ก พบว่าราคาก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 2.43 บาท/กิโลกรัม ในขณะที่ประเทศไทย ปตท.กลับขายเนื้อก๊าซธรรมชาติแพงเพิ่มขึ้นไปเป็นราคา 8.39 บาท/กิโลกรัม และจะยังคงมีนโยบายขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง
       
        เช่นเดียวกันกับกรณี ปตท. ได้ลงทุนสร้างโรงกลั่นขนาดใหญ่เป็นบริษัทในเครือที่ชื่อ บริษัท โรงกลั่นระยอง จำกัด ประมาณ 50,000 ล้านบาท พอหักค่าเสื่อมทางบัญชีปีละ 10% ผ่านไป 10 ปี ในปี พ.ศ.2554 ปตท. จึงบันทึกมูลค่าทางบัญชีโรงกลั่นแห่งนี้ก่อนการแปรรูปเพียงแค่ 1 บาท
       
        แต่ความเป็นจริงโรงกลั่นดังกล่าวสามารถดำเนินการต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 15 ปี อีกทั้งธุรกิจการกลั่นน้ำมันต้องมีใบอนุญาตจากรัฐบาลและต้องผ่านกฎหมายควบคุมสิ่งแวดล้อม จึงย่อมไม่มีทางที่จะมีมูลค่าเหลือ 1 บาท ได้ โดยต่อมา บริษัท โรงกลั่นระยอง จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 มูลค่ากลับเพิ่มขึ้นสูงขึ้นมากกว่า 50,000 ล้านบาท
       
        จากทรัพย์สินโรงกลั่นที่ถูกประเมินว่าไม่มีค่าก่อนการแปรรูป กลับราคาประเมินใหม่งอกเพิ่มพูนขึ้นมาอย่างมหาศาล และทุกวันนี้ ปตท.ก็เข้าถือหุ้นในโรงกลั่นจำนวนมาก จนกลายเป็นกรรมการและผู้มีอิทธิพลต่อตลาดโรงกลั่นที่แท้จริงในการสร้างกำไรอย่างมหาศาลให้กับผู้ถือหุ้น
       
        ราคาน้ำมันเบนซิน 91 เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555 ราคา 43.45 บาทต่อลิตร แต่ค่าแรงขั้นต่ำที่จะได้วันละ 300 บาท ถ้าแรงงานไทยทำงานได้ 1 วัน ซื้อน้ำมันได้เพียง 6.9 ลิตร หรือทำงาน 1 ชั่วโมงซื้อน้ำมันได้ไม่ถึงลิตร
      
        เปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่บริโภคน้ำมันมากที่สุด และนำเข้าน้ำมันจากทั่วโลกมากที่สุด ในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555 ราคาน้ำมันเบนซินธรรมดาอยู่ที่ 29.51 บาทต่อลิตร (ถูกกว่าประเทศไทย 13.94 บาทต่อลิตร หรือคนไทยใช้น้ำมันแพงกว่าคนอเมริกัน 47.24%) แต่ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 7.25 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง หรือคิดได้เป็นประมาณ 2,047 บาทต่อวัน หมายความว่าแรงงานอเมริกันทำงาน 1 วันได้น้ำมัน 69.36 ลิตร ( 10 เท่าของไทย) หรือทำงาน 1 ชั่วโมงได้น้ำมัน 8.67 ลิตร

       
        ผลสำรวจของ บริษัท นีลสัน (ประเทศไทย) พบว่ากลุ่มธุรกิจ ปตท.เมื่อปี 2554 ได้ใช้จ่ายในการโฆษณา 699.8 ล้านบาท (อยู่ในอันดับที่ 5 ของสินค้าที่มีการโฆษณามากที่สุด) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ประมาณ 12% และเป็นงบประมาณที่กระจายไปในสื่อโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ และในอินเทอร์เน็ต ให้หลงใหลเชื่อกับภาพลักษณ์ ปตท. ซึ่งแท้ที่จริงกำลังแสวงหากำไรอย่างไม่รู้จบสิ้น
       
        จึงไม่น่าแปลกใจนัก ที่สื่อมวลชนกระแสหลักต่างไม่มีใครกล้าที่จะแตะเรื่องความไม่ชอบมาพากลของ ปตท. เพราะต่างก็เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ให้กับสื่อมวลชนแทบทุกค่าย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสื่อมวลชนเหล่านั้นไม่สามารถแยกแยะได้ระหว่าง “ผลประโยชน์ทางธุรกิจ” กับ “ผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติ”
      
        บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ถือหุ้น 100% ดำเนินธุรกิจเล่าข่าวมาเป็นเวลานานและมีผู้ชมจำนวนมาก หากนำเสนอเรื่องนี้ให้สังคมได้รับทราบ ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอยู่ไม่ใช่น้อย

       
        สำนักข่าวอิศรา ได้รายงานว่า ธนาคารออมสิน กระทรวงการคลัง (ผู้ถือหุ้นของ ปตท.) เป็นขุมทรัพย์ของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด โดยตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมาจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ได้รับการว่าจ้างประชาสัมพันธ์จากธนาคารออมสินผ่านรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” และ “เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์” ถึง 16 ครั้ง (สัญญา) เป็นเงิน 89 ล้านบาท จากที่ได้รับว่าจ้างจากหน่วยงานของรัฐทั้งสิ้น 3 แห่ง รวม 19 ครั้ง 105 ล้านบาท
      
        รวมถึง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เคยจ้างโฆษณาประชาสัมพันธ์ ทางโทรทัศน์วงเงิน 11 ล้านบาท เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553
      
        บริษัท ไร่ส้ม จำกัด มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท แต่ผลประกอบการมีรายได้ 5 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 - พ.ศ. 2553) รวม 1,416 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 5 ปี รวม 563 ล้านบาท!!! 

       
        ลำพังธุรกิจเช่นนี้ถือว่าธุรกิจของนายสรยุทธมีกำไรมหาศาลเป็นมหาเศรษฐีคนหนึ่งในเมืองไทยอยู่แล้ว (ต่อให้ตกงานแล้วใช้เงินส่วนที่เหลือทั้งหมดก็ยังมีอยู่อย่างมากมาย) จึงอยู่ที่ว่าเรื่องใหญ่และประชาชนเดือดร้อนขนาดนี้ คนที่เรียกว่าสื่อมวลชนที่ร่ำรวยขนาดนี้จะทำหน้าที่ในการตรวจสอบเรื่องนี้เปิดเผยข้อเท็จจริงคืนกำไรให้กับประชาชนได้หรือไม่?
       
        ผลประโยชน์ทางธุรกิจไม่ใช่การสร้างบุญคุณและไม่มีการติดค้างกัน เพราะ ปตท. ก็ได้การโฆษณาประชาสัมพันธ์ในสินค้าตัวเอง สื่อมวลชนก็ได้ค่าโฆษณานั้นเป็นการตอบแทนที่สุจริต
      
       แต่การละเลยการตรวจสอบในฐานะสื่อมวลชนต่างหาก ที่ถือเป็นการขายจิตวิญญาณทรยศต่อหน้าที่ของสื่อมวลชนที่จะทำหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน!!! 



ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th
โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ :1 พฤษภาคม 2555 17:25 น.


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น