วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

รู้ไม่ทันก๊าซ... เพราะ...รู้ไม่ทัน ปตท...



เมื่อไม่กี่วันมานี้ได้มีภาพวิดีโอเคลื่อนไหวลงในเว็บไซต์ยูทูบมีการลงทุนทำสคริปต์และกราฟิกดีไซน์คล้ายๆ กับ “รู้ทันน้ำ” ที่ทำเป็นการ์ตูนเคลื่อนไหวให้ความรู้ประชาชนในช่วงวิกฤตน้ำท่วม
       
        แต่คราวนี้เป็นการลงทุนลงแรงทำเรื่อง “รู้ทันก๊าซ” มีลักษณะคล้ายคลึงกันแต่ที่น่าสนใจก็คือเป็นการโฆษณาให้ข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ในการขึ้นราคาก๊าซของ ปตท. ซึ่งปัจจุบันมีการจัดทำและขึ้นเว็บไซต์ยูทูบไปแล้วประมาณ 5 ตอน
       
        แม้จะไม่เปิดเผยข้อมูลให้ชัดเจนแต่ด้วยลักษณะการเผยแพร่น่าสงสัยได้ว่าเป็นฝีมือและผลงานการประชาสัมพันธ์ของ ปตท. อีกชิ้นหนึ่ง
       
        หลายคนเชื่อว่าการลงทุนทำภาพการ์ตูนเคลื่อนไหวครั้งนี้ เพราะเป็นการตอบโต้กับกระแสยูทูบในหัวข้อ “เปิดหลักฐานปล้นประเทศไทย” ซึ่งเป็นการเปิดเผยและเผยแพร่ข้อมูลด้านพลังงานจากเทปบันทึกรายการ “เกาะติดสถานการณ์วิกฤตชาติ” ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม FMTV นำเสนอโดย ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี และดำเนินรายการโดย สมลักษณ์ หุตานุวัตร ขึ้นเว็บไซต์ยูทูบเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555
       
        ซึ่งปัจจุบันถึงเช้าวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 มีผู้เข้าชมข้อมูลดังกล่าวเกินกว่า 267,800 ครั้งแล้ว!!! และมีผู้กดชอบข้อมูลดังกล่าวสูงถึง 95% และมีอาสาสมัครเผยแพร่เพิ่มมากขึ้นทั้งในรูปวีซีดีและดีวีดี
       
        ถึงแม้ว่า ปตท. และบริษัทในเครือจะสามารถกุมสื่อส่วนใหญ่ในประเทศนี้ได้เกือบทั้งหมดด้วยพลังงบประมาณค่าโฆษณาอันมหาศาลปีหนึ่งๆ ไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท อีกทั้งนักการเมืองแทบทุกค่ายต่างก็เคยได้ประโยชน์ทำมาหากินกับ ปตท. และพลังงานมาแล้วทั้งสิ้น แต่กระแสความไม่พอใจของประชาชนต่อราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นโดยที่ประชาชนสามารถสัมผัสความเดือดร้อนในปัญหาสินค้าราคาแพงขึ้นอย่างมาก ทำให้การเผยแพร่ข้อมูลของสื่อทางเลือกได้เกิดการกระจายเผยแพร่ไปได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่องเกินคาด จึงทำให้ ปตท.ต้องกระโดดมาทำสงครามสมรภูมิสื่อครั้งนี้อย่างที่ได้คาดการณ์เอาไว้
       
        หลายคนเข้าไปดูข้อมูลวิดีโอคลิปชุดนี้พอเห็นชื่อ “รู้ทันก๊าซ ตอนที่ 1” ในความคิดแรกก็จะคิดว่าเป็นการ์ตูนเคลื่อนไหวเพื่อเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลด้านพลังงาน แต่ในการนำเสนอตอนที่ 1 ก็ทำให้เกิดความคลุมเครือไม่แน่ใจว่าข้อมูลดังกล่าวจัดทำเพื่อประโยชน์ใคร เพียงแต่ตั้งคำถามตามฝ่ายที่ตรวจสอบได้ตั้งประเด็นเอาไว้เท่านั้น ถือเป็นเล่ห์เพทุบายในการล่อให้ฝ่ายที่ไม่พอใจติดกับดักข้อมูลเพื่อให้ติดตามตอนต่อไป ปรากฏว่ามีคนเข้าไปชมการ์ตูนเคลื่อนไหวนี้แล้วถึงเช้าวันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ประมาณ 18,964 ครั้ง และมีคนแสดงความคิดเห็นกดชื่นชอบข้อมูลดังกล่าวประมาณ 86%
       

        แต่พอเข้าไปดูอีก 4 ตอนที่เหลือ ก็กลับกลายเป็นข้อมูลที่สร้างความชอบธรรมให้กับ ปตท.ในการที่จะขึ้นราคาก๊าซให้ถึงเป้าหมายเกือบ 15.96 บาทต่อกิโลกรัม ผลปรากฏว่าในแต่ละตอนมีผู้เข้าชมลดลงตามลำดับลงเรื่อยๆ และมีคนแสดงความเห็นทยอยกด “ไม่ชอบ” เพิ่มมากขึ้นเป็นปฏิกิริยาผกผันกับจำนวนตอนที่เพิ่มมากขึ้นดังนี้
       
        รู้ทันก๊าซ ตอนที่ 1 มีผู้เข้าชม 18,964 ครั้ง มีจำนวนที่แสดงความเห็นกดชื่นชอบ 86%
       
        รู้ทันก๊าซ ตอนที่ 2 มีผู้เข้าชมลดลงเหลือ 9,087 ครั้ง มีจำนวนที่แสดงความเห็นกด “ไม่ชอบ” สูงถึง 54%
       
        รู้ทันก๊าซ ตอนที่ 3 มีผู้เข้าชมลดลงไปอีกเหลือ 7,691 ครั้ง มีจำนวนที่แสดงความเห็นกด “ไม่ชอบ”สูง 54%
       
        รู้ทันก๊าซ ตอนที่ 4 มีผู้เข้าชมลดลงไปอีกเหลือ 3,312 ครั้ง มีจำนวนที่แสดงความเห็นกด “ไม่ชอบ” สูงขึ้นเป็น 71%
       
        รู้ทันก๊าซ ตอนที่ 5 มีผู้เข้าชมลดลงไปอีกเหลือ 2,459 ครั้ง มีจำนวนที่แสดงความเห็นกด “ไม่ชอบ” สูงขึ้นเป็น 71%
       
        แสดงให้เห็นว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะมันเป็นการฝืนความรู้สึกของประชาชน
       
        เพราะความจริงแล้วข้อมูลที่นำเสนอผ่านรายการดังกล่าวนั้น เป็นการนำเสนอโฆษณาชวนเชื่อให้ข้อมูลด้านเดียว (เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของ ปตท.) และไม่ได้ตอบคำถามให้ประชาชนสงสัยอยู่หลายประการ
       
        โดยเฉพาะระบบก๊าซเอ็นจีวี และแอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) นั้น ต้องไม่ลืมเสมอว่าเรามีผู้ที่แสวงหาผลกำไรในเชิงพาณิชย์ในรูปอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมาช่วงชิงราคาก๊าซธรรมชาติในราคาถูกๆ โดยกองทุนพลังงานต้องเรียกเก็บเอาจากภาษีประชาชน และผู้ใช้น้ำมันมาแบกรับมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยเหล่านี้
       
        ไม่ต้องพูดถึงความร่ำรวยอย่างมหาศาลของ ปตท. และ ปตท.สผ. ที่กำไรเพิ่มพูนมหาศาลเพื่อตอบสนองผู้ถือหุ้น จนข้ออ้างว่า “แบกรับไม่ไหว” นั้น มันสวนทางกับความรู้สึกของประชาชนอย่างสิ้นเชิง เพราะ ปตท. และ ปตท.สผ.ในวันนี้ ไม่ใช่ว่า “ยังไม่รวย” แต่ถึงขั้น “รวยไม่รู้จักพอ” ต่างหาก
       
        11 ปี นับตั้งแต่การแปรรูป ปตท.มีกำไรสุทธิรวม 774,167 ล้านบาท ได้เงินจากการแปรรูปเข้าบริษัทโดยอ้างว่าแปรรูปเพราะขาดเงินทุน ปตท.ได้เงินระดมทุนใหม่จากแปรรูปโดยการขายหุ้นและเพิ่มทุนรวมตลอดระยะเวลา 11 ปี คิดเป็นเงิน 28,277 ล้านบาท แต่ปี 2554 ปีเดียวกำไรสุทธิ 125,266 ล้านบาท ดังนั้นหากพิจารณา ปตท. แบ่งกำไรคืนให้ผู้ถือหุ้นในส่วนเงินระดมทุนใหม่ทั้งหมดตลอดระยะเวลา 11 ปี จะสูงประมาณ 296,000 ล้านบาท
       
       วันนี้แม้ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกลดลงทั้งในยุโรปและอเมริกา แต่ ปตท.ก็อ้างว่าไม่สามารถจะไปอ้างอิงภูมิภาคอื่นได้ ต้องอิงกับราคาในภูมิภาคเท่านั้น แต่เมื่อดูต้นทุนราคาก๊าซปากหลุมก็กลับพบว่า ปตท. ได้ต้นทุนถูกกว่าราคาก๊าซธรรมชาติปากหลุมในประเทศต่างๆ ดังเช่นกรณีประเทศพม่าที่ราคาต้นทุนก๊าซธรรมชาติปากหลุมของไทยต่ำกว่าพม่าถึง 40 % เพียงเพราะว่าของไทยอยากจะจ่ายค่าภาคหลวงให้กับรัฐไทยต่ำเกินจริงใช่หรือไม่
       
        แต่วันนี้ ปตท. กลับจะมาเรียกร้องให้ราคาขายปลีกสูงกว่าตลาดโลกและให้ใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ ได้อย่างไร?
       
        ตรรกะของ ปตท. ที่อ้างว่าหากราคาก๊าซธรรมชาติของไทยต่ำกว่าภูมิภาค เราจะถูกคนต่างชาติเข้ามาเติมก๊าซธรรมชาติแย่งคนไทยใช้กันหมด แม้ว่าจะฟังดูดีแต่ ปตท.กลับไม่ตอบคำถามไม่ว่าถ้าเช่นนั้นทำไม ปตท. จึงปล่อยให้น้ำมันที่ประเทศไทย “สูงกว่า” ทั้ง พม่า มาเลเซีย และอินโดนีเซียได้โดยไม่เกิดปัญหารุนแรงเหมือนอย่างที่พยายามกล่าวอ้างกัน?
       
        และแม้สมมติว่าประเทศไทยจะมีความคิดยุทธศาสตร์หวงแหนและเก็บพลังงานเอาไว้ใช้เองจริงดังที่ว่า เหตุใดจึงมีการปล่อยให้มีการสัมปทานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้กับต่างชาติด้วยราคาค่าภาคหลวงต่ำติดดินในระดับโลก!?
       
        และถ้าประเทศไทยคิดว่าอยากจะใช้ราคาน้ำมันตามอำเภอใจ โดยอ้างตลาดโลกบ้าง อ้างราคาในภูมิภาคบ้าง โดยอ้างว่าถ้าไม่ขึ้นราคาต่างชาติจะรุมเข้ามาแย่งซื้อทรัพยากรธรรมชาติเราหมด สิ่งที่ควรจะทำก็คือหยุดการสัมปทานแล้วนำเข้าอย่างเดียวไม่ดีกว่าหรือ ในเมื่อประเทศชาติก็ไม่ได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยจากค่าภาคหลวงที่ติดดินในชั้นหนึ่งอยู่แล้ว แถมประชาชนก็ไม่ได้ประโยชน์จากที่มีทรัพยากรธรรมชาติในประเทศตนเองอีกด้วย?
       
        ความจริงแล้ว หาก ปตท. เป็นเหมือน ปิโตรนาส ของมาเลเซีย ที่เป็นกิจการขององค์กรรัฐ 100% ต่อให้ราคาต่ำกว่าตลาดโลกก็ยังถือว่าประชาชนได้ประโยชน์ แต่หากจะขึ้นราคาตามตลาดโลกประโยชน์ก็ยังตกอยู่กับรัฐในการนำรายได้ส่วนนั้นมาคืนให้กับประชาชนในรูปงบประมาณอยู่ดี และคงไม่มีใครว่าอะไรได้ นอกจากการนำเงินไปให้รัฐนั้นจะมีการทุจริตโกงกินกันมากแค่ไหนก็ยังคงเป็นอีกประเด็นหนึ่ง
       
        และหากจะยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในการใช้ทรัพยากร ก็ต้องเริ่มต้นจากคนในครอบครัวมีใช้อย่างเพียงพอก่อน (ในราคาอันสมฐานะทางเศรษฐกิจให้กับคนในครอบครัว) เมื่อเหลือแล้วจึงขายออกไปต่างประเทศหรือคนที่จะเอาไปทำธุรกิจเพื่อแสวงหาผลกำไรส่วนตัวในราคาตลาดโลก
       
        ความคิดขายทรัพยากรในชาติให้กับคนในชาติในราคาที่เหมาะสมกับฐานะทางเศรษฐกิจเมื่อเหลือ แล้วส่งออกขายเชิงพาณิชย์ตามราคาตลาดโลก (ซึ่งสูงกว่าราคาในประเทศ) นั้น เกิดขึ้นอยู่แล้วทั้งในมาเลเซีย โบลิเวีย บาห์เรน เวเนซุเอลา อียิปต์ กัวเตมาลา อิรัก คูเวต ลิเบีย เม็กซิโก โมซัมบิก โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย เติร์กเมนิสถาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฯลฯ 
       
        แต่กรณีของก๊าซธรรมชาตินั้นถือว่ามีความไม่ชอบมาพากลยิ่งกว่านั้น เพราะมีปัญหาด้านหนึ่งคือการผูกขาดโดยการยึดท่อก๊าซธรรมชาติและแสวงหาผลประโยชน์ของ ปตท. ประการหนึ่ง และอีกด้านหนึ่งคือออกแบบทางธุรกิจให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้รับต้นทุนก๊าซธรรมชาติในราคาต่ำกว่าตลาดโลกโดยให้ประชาชนคนทั้งประเทศไปแบกรับผ่านราคาน้ำมันและภาษีเป็นปัญหาอีกประการหนึ่ง
       
        ทั้งนี้คณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลในวุฒิสภา ได้ออกเอกสารเผยแพร่สำหรับประชาชนเรื่อง“พลังงานไทย...พลังงานใคร?” เนื้อความตอนหนึ่งเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติระบุว่า:
       
        “จะว่าไปแล้วการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ “บมจ.ปตท.” ในปัจจุบันยังเป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวในธุรกิจโรงแยกก๊าซ ธุรกิจก๊าซเอ็นจีวี และธุรกิจท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย “บมจ.ปตท.” ยังได้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่ถูกโอนไปจากภาครัฐ เมื่อตอนแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยด้วย
       
        นั่นคือ “กำไร” จากท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งสร้างจากเงินภาษีของพวกเราคนไทยในช่วงก่อนการแปรรูปเมื่อเดือนธันวาคม 2544
       
        ก็ค่าไฟฟ้าไงล่ะ!!!
       
        รู้ไหมว่าเราต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล อันเนื่องมาจากมีการคิด “ค่าผ่านท่อ” เพิ่มขึ้นจากท่อส่งก๊าซ เป็นคดีที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ “บมจ.ปตท.” คืนให้แก่รัฐ
       
        แต่นอกจาก “บมจ.ปตท.”จะยังคืนไม่ครบถ้วนแล้ว ยังเอาท่อก๊าซที่ตัดค่าใช้จ่ายทางบัญชีหมดแล้วมาตีมูลค่าใหม่ เพราะประเมินว่ามีอายุใช้งานเพิ่มขึ้น 25 ปี ทำให้สามารถคิดค่าผ่านท่อเพิ่มเข้าไปทำให้ราคาขายของก๊าซเพิ่มขึ้น มีผลให้ค่าไฟเพิ่มขึ้น...
       
        รู้หรือเปล่าว่า ค่าผ่านท่อที่เพิ่มขึ้นทำให้ “บมจ.ปตท.” ได้เงินเพิ่มทันทีเฉพาะในปี 2552 ปีเดียวจำนวน 2,000 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ด้วยคำสั่งศาลที่ให้ “บมจ.ปตท.” คืนทรัพย์สินให้รัฐ ซึ่งคือท่อชุดเดียวกันนี้ “บมจ.ปตท.” ต้องจ่ายเงินชดเชยที่เอาก๊าซไปใช้โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมายในเวลา 6 ปี ด้วยมูลค่าเพียง 1,335 ล้านบาท ดูสิ เอาของหลวงไปใช้ 6 ปี แต่เอาของหลวงมาทำมาหากินได้เงินคืนทันที 2,000 ล้านบาทใน 1 ปี
        ข้อมูลจากสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานเห็นได้ชัดเจนเลยว่าในระหว่างปี 2549 ถึง 2551 ภาคปิโตรเคมี ใช้ก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้น 403,000 ตัน ขณะที่ภาคครัวเรือนซึ่งก็คือคนไทยทั้งประเทศ ใช้ก๊าซแอลพีจี เพิ่มขึ้นรวมกัน 402,000 ตัน

       
        แต่ตอนนี้คนที่รับภาระส่วนต่างราคาระหว่างราคาตลาดโลก กับราคาในประเทศของก๊าซแอลพีจีที่นำเข้า คือกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เป็นหนี้ “บมจ.ปตท.” ถึง 8,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินของประชาชนฝ่ายเดียวอยู่ดี ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมีไม่ต้องรับภาระในส่วนนี้เลย
       
        ถ้าการกำหนดราคาก๊าซแอลพีจี ยึดหลักประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้นรัฐบาลก็ควรแยกราคาก๊าซในส่วนของภาคอุตสาหกรรมและปิโตรเคมีออกจากประชาชน ทั้งในส่วนที่ใช้ในครัวเรือน และยานยนต์ เพราะภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะปิโตรเคมีใช้ก๊าซเพื่อสร้างผลกำไรทางธุรกิจ และส่วนใหญ่ก็เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก เปรียบเสมือนการนำทรัพยากรธรรมชาติของไทยไปขายให้ต่างชาติในราคาถูก
       
        ดังนั้นภาคธุรกิจก็ควรจะรับภาระราคาก๊าซแอลพีจีตามราคาตลาดโลกถึงจะถูกต้อง ตรงกันข้ามกับภาคประชาชนที่ใช้ก๊าซดำรงชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะใช้หุงต้มหรือเป็นเชื้อเพลิงเติมรถยนต์ ก็ควรจะซื้อในราคาที่ถูกกว่า”
       
        สิ่งที่คนไทยทั่วไปไม่เคยรู้เลยว่าปี 2554 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซื้อก๊าซธรรมชาติจาก ปตท. แพงกว่าภาคเอกชนที่ทำธุรกิจแสวงหาผลกำไรในประเทศไทย 0.25 บาท/ต่อหน่วย คิดเป็นค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องถูกเอากำไรแพงไป 12,500 ล้านบาท 
       
        ป.ต.ท. ในยุคนี้จึงแปลว่า “ปล้น ต้ม ไทย” จริงหรือไม่!? 




ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
www.manager.co.th
โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ :8 พฤษภาคม 2555 15:14 น.




อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ผู้จัดรายการ "ยามเฝ้าแผ่นดิน" และคอลัมนิสต์ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เกิดวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2513 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของ นายเจริญ และนางสุจิตรา พัวพงษ์พันธ์ บิดาเป็นคนไทยเชื้อสายจีนไหหลำ และมารดาเป็นคนไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว นามสกุล "พัวพงษ์พันธ์" ตั้งให้สอดคล้องกับแซ่ "พัว" ของตระกูลนั่นเอง


นายปานเทพเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และระดับปริญญาโทบริหารธุรกิจ สาขา การเงินการจัดการ จากมหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา


เมื่อกลับมาเมืองไทยได้เข้าทำงานกับองค์กรภาคเอกชน โดยเข้าไปเป็นผู้บริหารดูด้านการเงิน และการก่อสร้างอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนที่ประเทศไทยจะประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจ เมื่อปี พ.ศ. 2540


ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เข้าสู่วงการเมือง โดยมีผู้แนะนำให้รู้จักกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในปี พ.ศ. 2541 โดยเข้าไปช่วยงานในพรรคความหวังใหม่ ขณะที่มีอายุ 28 ปี กระทั่งได้เป็นกรรมการบริหารพรรค เคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคความหวังใหม่[1] และมีตำแหน่งสุดท้ายเป็นรองโฆษกพรรคความหวังใหม่ ในปี พ.ศ. 2544 ก่อนที่จะไปดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการองค์การฟอกหนัง ด้วยวัย 31 ปี ซึ่งถือว่าเป็นผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ ที่อายุน้อยที่สุดในประเทศไทย


เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ยุบพรรคความหวังใหม่ รวมกับพรรคไทยรักไทย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ได้เป็นทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจในช่วง รัฐบาลทักษิณ 1 โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจภาคใต้ ก่อนที่จะถอนตัวในเวลาต่อมาด้วยความเห็นที่ไม่ตรงกัน และหลังจากนั้นยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาลทักษิณมาโดยตลอด โดยชื่อของ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โด่งดังอีกครั้ง เมื่อออกหนังสือชื่อ "บันทึกลับ ๒๕๔o" โดยมีเนื้อหาชี้แจงถึงปัญหาเศรษฐกิจในช่วงที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ถูกโจมตีว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดวิกฤต


ปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐบาลมาโดยตลอด เช่น การเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐชื่อ " วิสัยทัศน์เศรษฐกิจ " รวมทั้งถึงเคยจัดรายการโทรทัศน์ทาง UBC ช่อง 7 ร่วมกับดุสิต ศิริวรรณ ด้วยอยู่ช่วงหนึ่ง ในชื่อรายการ " โต๊ะข่าวเช้านี้ "


ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2548 ปานเทพ ก็ได้เข้าไปทำงานในเครือผู้จัดการ ของสนธิ ลิ้มทองกุล และได้ทำรายการใน ASTV คือ "ยามเฝ้าแผ่นดิน" ในช่วงเวลา 20:30น.-21:30น.ทุกวันจันทร์ ถึง ศุกร์ และเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการด้วย ซึ่งยังทำมาจนปัจจุบัน


ในการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2549 ปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์ ทำหน้าที่เป็นโฆษกบนเวที และในการขับไล่ รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ.ศ. 2551 ปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์ ยังคงทำหน้าที่เป็นโฆษกบนเวทีอย่างต่อเนื่อง


นอกเหนือจากรายการที่ ASTV แล้ว ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ยังมีรายการ "เวทีเสรี" ที่อออกอากาศ ช่วง 21.00 - 22.00 น. ทาง TTV ช่อง MV1 ด้วย โดยเป็นวิทยากรประจำวันอังคาร ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ออกอากาศแล้ว


ปัจจุบันได้รับแต่งตั้งให้เป็นโฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเป็นนักวิชาการบนเวทีที่พูดในประเด็นกรณีเขาพระวิหารคู่กับเทพมนตรี ลิมปพยอม


ประวัติการศึกษา


ศิษย์เก่า โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก รุ่น 103
พ.ศ. 2536 : ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
พ.ศ. 2539 : ปริญญาโท บริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา


จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น