วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวปิดไม่มิด ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

สำนวน ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวปิดไม่มิด มีความหมายว่า ความผิดหรือความชั่วร้ายแรง ที่รู้กันทั่ว จะปิดอย่างไรก็ไม่มิด เหมือนกับที่ ผู้บริหารบริษัทท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ( ทอท. ) กำลังปกปิดปัญหารันเวย์ ร้าว จนต้องปิดซ่อมรันเวย์ทิศตะวันออกไป 1 รันเวย์ นาน2 เดือน และปิดรันเวย์ฝั่งตะวันตก อย่างฉุกละหุกฉุกเฉิน เมื่อค่ำวัน ที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพราะผิวรันเวย์หลุดร่อนลึก 5 เซ็นติเมตร ทำให้เครื่องบินที่กำลังจะร่อนลงจอด ต้องไปลงที่สนามบินอื่น
       
       นายสมชัย สวัสดีผล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. และเป็นผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้วย บอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถือเป็นเรืองปกติ เพราะรันเวย์ใช้งานมานาน ตั้งแต่ต้นปีมา เกิดเหตุการณ์แบบนี้มาแล้ว 6 ครั้ง และมีการซ่อมผิวรันเวย์ที่หลุดร่อนทั้งสองรันเวย์ ปีละ 200 ครั้ง ถือเป็นมาตรฐานของสนามบินนานาชาติทุกแห่งที่มีการซ่อมแซมลักษณะนี้
       
       คำพูดทำนองเดียวกันนี้ ถูกคัดลอกมาให้นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองว่า เรื่องที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องปกติ เพราะวันนี้สนามบินสุวรรณภูมิมีการใช้งานมาหลายปีแล้ว จำนวนเที่ยวบินก็สูงกว่าที่คาดหมายไว้ เครื่องบินขนาดใหญ่มีมากขึ้นซึ่งก็เป็นไปตามกาลเวลา
       
       แต่สำหรับนักบิน ลูกเรือ และผู้โดยสารบนเครื่องบินทั้ง 11 ลำ ที่มีกำหนดลงจอด ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อค่ำวันที่ 5 กรกฎาคม เรื่องนี้ คงไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะพวกเขาต้องบินวนเหนือสนามบินเป็นเวลานาน กว่าจะรู้ว่า เกิดอะไรขึ้น และต้องไปลงจอดที่สนามบินอู่ตะเภา 7 ลำ ดอนเมือง 3 ลำ และเชียงใหม่ 1 ลำ แทน แต่มันคือ ความเสี่ยงของการใช้สนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีความไม่แน่นอนว่า จะลงจอดได้หรือไม่
       
       สำหรับสายการบิน ความเสี่ยงนี้ ทำให้เกิดความสูญเสียทางธุรกิจ ทั้งต้นทุนค่าน้ำมันเชิ้อเพลิง และ ผลกระทบต่อตารางการบิน สำหรับผู้โดยสารต้องเสียเวลาไปกับการรอคอย ต้องไปลงที่สนามบินอื่น และมีความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยต่อชีวิต ถ้าหากว่า ผิวรันเวย์ในจุดที่เครื่องบินลง เกิ ดร่อนหรือหลุดเป็นหลุม ในตอนที่ล้อเครื่องบินแตะพื้นพอดี
       
       การปิดรันเวย์อย่างฉุกเฉินเมื่อค่ำวันที่ 5 กรกฎาคม เป็นสิ่งที่ฟ้องว่า อาการผิวรันเวย์ร้าว หรือหลุดร่อน หรือทรุดตัว สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่มีใครรู้ว่า จะเกิดตรงจุดไหน เมื่อไร จะรู้ก็ต่อเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น มันจึงไม่ใช่เรื่องปกติ อย่างที่นายสมชัย และนายกฯยิ่งลักษณ์พูด และต้องการให้ประชาชนเชื่อ
       
       รันเวย์ สนามบินสุวรรณภูมิรวมทั้งแท็กซี่เวย์ ไม่ใช่เพิ่งจะมาร้าว หรือแตกตอนนี้ แต่ร้าว หลุดร่อน มาตั้งแต่เปิดใช้สนามบินใหม่ๆ ไม่กี่เดือน เมื่อห้าปีที่แล้ว รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ โดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้ทำนายไว้ว่า รันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิจะร้าว และทรุด เพราะมีการทุจริตในการถมทราย เอาทรายที่ไม่อุ้มน้ำมาถม เพราะมีราคาถูกกว่า ทรายแม่น้ำ
       
       หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ฉบับวันที่ 6 และวันที่ 9 สิงหาคม 2548 พาดหัวข่าวว่า สนามบินสุวรรณภูมิร้าว ทำให้ นช. ทักษิณ ชินวัตร โกรธมาก สั่งให้หาตัวผู้เขียนข่าวชิ้นนี้ ซึ่งก็คือ นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ นักข่าวสายความมั่นคง ลูกหม้อบางกอกโพสต์ และกดดันให้ผู้บริหารบางกอกโพสต์ไล่นายเสริมสุข และนายชฎิล เทพวัลย์ บรรณาธิการข่าวออก ในขณะทีกระทรวงคมนาคม ซึ่งตอนนั้น นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล เป็นรัฐมนตรี ฟ้องบางกอกโพสต์ข้อหาหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 1 พันล้านบาท
       
       ดังนั้น ปัญหารันเวย์ร้าวจึงไม่ใช่เพิ่งเกิด หลังจากที่ใช้งานมาเพียง 6 ปี เพราะรับน้ำหนักมาก อย่างที่นายสมชัย และนายกฯยิ่งลักษ์ณ บอกกับสังคม แต่ร้าวมาตั้งแต่ยังไม่เปิด เมื่อเปิดใช้งานแล้ว อาการร้าวและแตกก็เกิดขึ้นเป็นระยะๆ เรื่อยมา จนเอา ในที่สุดต้องปิดรันเวย์ฝั่งตะวันออกบางส่วน เป็นเวลา 40 เพื่อซ่อม หลังจากนั้นไม่นาน เรื่องก็แดงขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อต้องปิดรันเวย์ฝั่งตะวันตกอย่างฉุกเฉิน
       
       การก่อสร้างรันเวย์ สนามบินสุวรรณภูมินั้น เป็นบทที่หนึ่ง ใน ตำนานโคตรโกงของสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งนายสมชัย น่าจะรู้ดีที่สุดกว่าใครๆ เพราะเขาคือ หน้าห้องของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในสมัยรัฐบาลที่มีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เดือนกันยายน 2538 - กันยายน 2539 และต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ระหว่าง เดือนพฤศจิกายน 2539 - เดือนตุลาคม 2540
       
       นายสมศักดิ์ ซึ่งขณะนั้น ยังสังกัดพรรคกิจสังคม ที่มีนายมนตรี พงษ์พานิช ผู้สร้างโครงการที่เป็นที่จดจำของคนไทย คือ โครงการโฮปเวลล์ เป็นหัวหน้าพรรค มีอำนาจกำกับดูแล การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ซึ่งตอนนั้น ยังไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียน และ บริษัท ท่าอากาศยานสากลแห่งใหม่ หรือ บทม. ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2539 เพื่อดึงอำนาจการควบคุม ดูแล สนามบินสุวรรณภูมิออกไปจาก การท่าอากาศยานฯ
       
       นายสมชัย ถูกส่งเข้าไปเป็นหู เป็นตา ดูแล การก่อสร้างสนามบิน สุวรรณภูมิ ใน บทม. ซึ่งโครงการใหญ่ในตอนนั้นคือ โครงการปรับปรุงคุณภาพดิน เพื่อก่อสร้างทางวิ่ง และทางขับ โครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ รือที่รู้จักกันในชื่อ โครงการถมทราย
       
       โครงการถมทรายนี้ บทม. ได้ว่าจ้างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการในวงเงิน 11,650 ล้านบาท ในสมัยรัฐบาลนายบรรหาร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายสมศักดิ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กำกับดูแล บทม.
       
       โครงการนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายเรื่อง ทั้งปัญหาด้านเทคนิคการปรับปรุงคุณภาพดิน การร้องเรียนถึงความไม่โปร่งใส ในการประกวดราคา ราคาสูงเกินความเป็นจริง การลงนามสัญญาเร่งรัดจนน่าสงสัย กล่าวคือ เป็นช่วงที่นายบรรหาร ประกาศยุบสภา และนายวันนอร์สั่งให้นายสมศักดิ์ชะลอการลงนามสัญญาออกไปก่อน เพื่อรอให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้พิจารณา แต่การลงนามสัญญาก็เกิดขึ้น ระหว่างที่เป็นรัฐบาลรักษาการ
       
       ในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ปรับลดขนาดสนามบินสุวรรณภูมิ โดยลดรันเวย์จากเดิม 2 รันเวย์ เหลือรันเวย์ ฝั่งตะวันตก เพียงรันเวย์เดียว จึงมีการลงนามกับบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ใหม่ ในเดือนสิงหาคม 2540 โดยลดวงเงินปรับปรุงคุณภาพดินหรือถมทราย เหลือ 7,868 ล้านบาท ด้วยการเปลี่ยนวัสดุบางส่วนจากทรายเป็นหินคลุก
       
       ส่วนโครงการกอสร้างรันเวย์ที่สอง คือ รันเวย์ฝั่งตะวันออก ที่ปิดซ่อมอยู่ในขณะนี้ เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ โดยกลุ่มวิจิตรภัณฑ์ -ประยูรวิศว์ เป็นผู้รับเหมา
       
       นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์เมื่อประมาณปี 2550 ว่า หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ได้ข่าวว่าผู้รับเหมานำทรายบก ซึ่งมีราคาถูกกว่าทรายแม่น้ำมาถมในสนามบินแทนที่จะใช้ทรายแม่น้ำ
       
       ในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ จุลานน์ ได้มีการตั้ง คณะกรรมการกลางตรวจสอบปัญหาแท็กซี่เวย์และรันเวย์ ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีนายต่อตระกูล ยมนาค เป็นประธาน ผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า พบว่า ชั้นยางมะตอยซึ่งหนา 33 เซนติเมตร มีปัญหา เพราะเม็ดกรวดที่ใช้ผสมยาง มะตอยมีขนาดเล็ก ทำให้ไม่แข็งตัว จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการยุบตัว ส่วนชั้นคอนกรีตที่หนา 70 เซนติเมตร พบว่าคอนกรีตเหนือระดับทราย 50 เซนติเมตร มีการอุ้มน้ำ และในชั้นทรายก็มีการอุ้มน้ำเช่นกัน
       
       หลังจาก มีการเปลี่ยนรัฐบาล ตั้งแต่รัฐบาลพรรคพลังประชาชน พรรคประชาธิปัตย์ มาจนถึงพรรคเพื่อไทย การตรวจสอบปัญหาการยุบตัว และรอยร้าวของรันเวย์ สนามบินสุวรรณภูมิก็เงียบหายไป แต่ปรากฎการณ์รันเวย์ร้าว รัยเวย์ยุบ กำลังฟ้องว่า มีสิ่งผิดปกติที่เกิดจากฝีมือของนักการเมืองซุกซ่อนอยู่ใต้รันเวย์ทั้งฝั่งตะวันตก และตะวันออก 
       
       การปิดรันเวย์อย่างฉุกเฉินเมื่อค่ำวันที่ 5 กรกฎาคม เป็นสิ่งที่ฟ้องว่า อาการผิวรันเวย์ร้าว หรือหลุดร่อน หรือทรุดตัว สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่มีใครรู้ว่า จะเกิดตรงจุดไหน เมื่อไร จะรู้ก็ต่อเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ดั
       
       นั้น มันจึงไม่ใช่เรื่องปกติ อย่างที่นายสมชัย และนายกฯยิ่งลักษณ์พูด และต้องการให้ประชาชนเชื่อ...



ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น